สำรวจและชวนทำความเข้าใจ โรคซึมเศร้าในวัยเรียน

190
โรคซึมเศร้าในวัยเรียน

สำรวจและชวนทำความเข้าใจ โรคซึมเศร้าในวัยเรียน

เมื่อ 2-3 ปีให้หลังเรามักจะได้เห็นข่าวที่นักศึกษาฆ่าตัวตายกันเหมือนใบไม้ร่วงในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาวะเครียดและโรคซึมเศร้า เป็นเหตุให้คนในสังคมตื่นตัวมากกว่าที่เคยคิดว่าเป็นแค่การคิดไปเอง ซึ่งหลายครั้งที่โรคซึมเศร้าไปลงเอยที่การฆ่าตัวตาย นั่นเป็นเพราะสังคม ครอบครัว สถานศึกษายังขาดความเข้าใจปัญหาของวัยรุ่น วัยเรียนกับโรคซึมเศร้า วันนี้เราจึงจะมาชวนสำรวจตัวเอง คนรอบข้าง โดยเฉพาะน้อง ๆ ในวัยเรียน พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กัน

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางร่างกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

คนเราเศร้าได้ แต่จัดการไม่ได้ทุกคน

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ก่อนที่จะเกิดเป็นโรคซึมเศร้า ความเศร้าเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เพียงแต่กระบวนการฟื้นฟูจากความเศร้าของแต่ละคนต่างกัน หลายคนพอเศร้าแล้วก็พาตัวเองกลับมาได้ แต่ในขณะที่นอกจากดึงตัวเองกลับมาไม่ได้แล้ว ยังเศร้าหนักลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า มีงานวิจัยพบว่า อาการซึมเศร้าจะถูกกระตุ้นจากอาการเสียศูนย์จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น คะแนนสอบ การถูกประเมิน ผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ความรัก ความรู้สึกผิด

แน่นอนว่าแต่ละคนจะมีอาการเสียศูนย์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงวิธีการรับมือก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายในของเราว่าจะทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน ทั้งนี้ประสบการณ์และรูปแบบความคิดก็ส่งผลให้การแสดงออกต่างกันด้วย

โรคซึมเศร้า ความเครียดและความกดดัน ชนวนสู่การฆ่าตัวตาย

หลายครั้งที่วัยรุ่นมักมีความเครียดจากการเรียนหนังสือ คนที่เด็กมักขอความช่วยเหลือจะเป็นเพื่อน ซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาครอบครัวก็ได้เช่นกัน แต่ที่พบได้บ่อย ๆ เป็นความกดดันจากคะแนนสอบที่ได้ไม่ตรงตามที่หวังไว้ จนเกิดเป็นอาการเศร้าตามมา และรุนแรงไปถึงการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

ความไม่เข้าใจในโรคซึมเศร้า

หลายครั้งที่เด็กส่งสัญญาณของความช่วยเหลือมายังพ่อแม่ แต่ด้วยความที่พ่อแม่อาจจะขาดความเข้าใจ หรือยังมีความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่าไม่ได้บ้าจะไปพบจิตแพทย์ทำไม ทำให้เด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวของสื่อก็ยังเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการชี้นำได้เช่นกัน การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของนักศึกษาในสื่อที่มีการผลิตซ้ำและอธิบายถึงวิธีการกระทำ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เลียนแบบและทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงตาม ในทางกลับกันหากมีการนำเสนอในสื่อเมื่อมีข่าวคนฆ่าตัวตายถึงวิธีการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับโรคซึมเศร้า พบว่าการฆ่าตัวตายของประชาชนจะลดลง

การป้องกันการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าของวัยรุ่น

  1. การสร้างทักษะชีวิต วัยรุ่นต้องมองโลกตามความเป็นจริง จัดการอารมณ์และสังคมได้อย่างเหมาะสม
    2. การที่สื่อไม่ผลิตหรือนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ
    3. จำกัดวิธี เช่น เอาคนไปเฝ้าสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
    4. มีระบบเฝ้าระวัง เป็นโจทย์ของโรงเรียนและสถานศึกษาในการหาวิธี

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เราป้องกันได้ ด้วยการฝึกให้เป็นคนคิดบวก ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ มีคุณค่า รวมถึงหาคนที่พร้อมจะรับฟังเราสักคนหนึ่ง เพื่อที่จะได้ไม่เก็บเรื่องต่าง ๆ ไว้คนเดียว และอย่าอายที่จะไปพบจิตแพทย์ด้วยนะคะ