วัดเพลง (ร้าง) โบราณสถานเก่าแก่สมัยอยุธยา ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือให้เรา ‘ศรัทธาปสาทะ’

1720

วันหยุด! เป็นช่วงวันเวลาพักผ่อนหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งอาทิตย์ หลายคนนอนพัก ไม่คิดออกไปสัมผัสโลกภายนอก เพราะเบื่อรถติด อากาศร้อน ไม่อยากไปแย่งอากาศหายใจ แต่มีอีกหลายคนที่อยากออกไปสู่ความแปลกใหม่ของธรรมชาติ ท่องเที่ยว โอบกอกความสุขท่ามกลางความอบอ้าวของอากาศ แต่เป็นความสุขที่เราสัมผัสได้ด้วยตัวของเราเอง แต่ละคนต่างมุมมอง ล้วนแต่มีจุดหมายความคิดไม่เหมือนกัน เอาที่สะดวก อยากกิน อยากเที่ยว อยากนอน เลือกเอาตามที่ใจเราต้องการ แต่หากไม่รู้จะไปไหน เรามีนัดกันไหว้พระ ขอพร ชมโบราณสถานวัดร้าง บางกรวย ที่ยังคงหลงเหลือให้เรา ‘ศรัทธาปสาทะ’

ป้ายทางเข้าวัดเพลง (ร้าง)

รู้ไหม? อำเภอบางกรวยมีวัดร้างให้เราได้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับร่องรอยของประวัติศาสตร์ และเป็นอีกวัดที่อยากจะแนะนำคือ “โบราณสถานวัดเพลง (ร้าง)” ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานจากการค้นคว้าได้มีการบันทึกเอาไว้ว่า วัดเพลงร้างนั้นเดิมมีชื่อว่า วัดทองเพลงหรือวัดเพรง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2200 ถึงปี 2233 ประมาณสมัยสมเด็จพระณารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

อุโบสถวัดเพลง (ร้าง)

โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบนั้น ได้ยินคนแก่เล่าต่อกันมาว่า วัดทองเพลงต้มเหล้ากินเอง หนึ่งปีรับกฐินสองไตร เดิมแต่วัดนี้ได้ความว่า ‘วัดทองเพลง’ เป็นวัดหลวง มีความสำคัญในแถบนี้มาก ในหนึ่งปีทางกรุงศรีอยุธยา หรือคนเมืองนนทบุรีในสมัยนั้นเรียกว่า เมืองบนนั้นได้จัดส่งขบวนกฐินทางเรือชลมารค มาติดต่อทางวัดถึงปีละ 2 ชุด นับเป็นวัดที่มีคุณสมบัติพิเศษมาก ซึ่งจัดตามประเพณีทางพุทธศาสนา ปีหนึ่งวัดแต่ละวัด จะได้รับกฐินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อเกิดศึกสงครมไทยกับพม่าเสียครั้งกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ( เดือน 10 พ.ศ. 2310) มหานรธา ในพงศาวดารไทยเรียก มังมหานรธา แม่ทัพพม่านำทัพขึ้นย้อนมาจากทางใต้ขึ้นมาตามลำน้ำและได้ตั้งค่ายตามริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านในพื้นที่นี้เกิดความกลัวจึงได้นิมนต์พระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ในวัดนี้ออกจากวัดไป ส่วนคนอื่นที่อาศัยอยู่บริเวณแถบนี้ก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อรบกับพม่าบ้าง บ้างก็ทิ้งบ้านเรือนพาครอบครัวหนีไป ทางวัดก็ขาดการเอาใจใส่จากชาวบาง ต่อมาไม่นานวัดก็ถูกทิ้งร้าง จึงได้เป็นวัดร้างมาจนถึงปัจจุบัน และในนิราศสุพรรณ นายมี ได้พรรณนา เมื่อมาถึงบาง บริเวณหน้าวัด แห่งนี้ว่า

อุโบสถวัดเพลง (ร้าง) ที่ผ่านการบูรณะ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเก่าแก่ของโบราณสถาน

มาถึงหน้าวัดเพลงวังเวงจิต นั่งพินิจศาลาที่อาศัย มีตะพานลูกกรงลงบันได จึงจำได้แน่จิตไม่ผิดเพี้ยน แต่ก่อนพระวัดนี้ท่านดีมาก ชื่อขรัวนาคช่างฉลาดข้างวาดเขียน มีคนจำแบบอย่างมาวางเรียน จนช่างเขียนประเดี๋ยวนี้ก็ดีจริง ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัว ฯ

แต่เดิมนั้นสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของเจ้าขรัวนาค แห่งวัดทองเพลง ซึ่งมีชื่อเสียงในการเขียนจิตรกรรมภาพฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พระพิฆเนศวร และซากปรักหักพัง ด้านข้างพระอุโบสถ

วัดเพลงร้างมีอะไร? น่าสนใจ

โบราณสถานวัดเพลง (ร้าง) มีพระอุโบสถเก่าแก่ตามหลักฐานได้บันทึกเอาไว้ว่า พระอุโบสถมีขนาดใหญ่ ขนาด 6 ห้อง ตรงมุมย่อมุมไม้สิบสองแบบเสา มีซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าที่มีลายปูนปั้นรูปลายกนกงดงาม

ด้านบนซุ้มประตูด้านในมีลักษณะแบ่งเป็น 2 ตอน คานไม้ปิดทองรูปกนกเปลวเพลิง ส่วนซุ้มประตูด้านในมีลายกนกรูปเทพนมสวยงามทีเดียว แต่ทั้งหมดลบเลือนมากแล้วหน้าบันของโบสถ์หลังนี้มีลายปูนปั้น สภาพอุโบสถที่ได้สัมผัส ผ่านการบูรณะ แต่ยังคงมีร่องรอยเดิมให้เราได้เห็น

หลวงพ่อโต เป็นพระโบราณสร้างจากหินทรายแดงข้างใน หุ้มปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 ใน 4 ของความกว้างพระอุโบสถ พระพุทธลักษณะของพระพักตร์ พระโอษฐ์ และพระเกศ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง แต่เดิมที่เป็นวัดทองเพลงนั้นปิดทองไว้อย่างสวยงามตลอดทั้งองค์

หลวงพ่อโต พระโบราณสร้างจากหินทรายแดงข้างใน หุ้มปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 ใน 4 ของความกว้างพระอุโบสถ

แต่เนื่องจากเป็นวัดร้างจึงถูกลอกเอาไปโดยถูกไฟสุม (แต่ในปัจจุบันได้ทำการลงรักปิดทองขึ้นมาใหม่) ที่ฐานของพระหลวงพ่อโตนี้เป็นลายปูนปั้นรูปสิงห์ขาโหย่งแต่ถูกกะเทาะผุพังไปบ้าง ด้านหน้านั้นมีพระปูนปั้นสาวก 2 องค์ จะเป็นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ หันหน้าเข้าหาพระประธาน เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นโดยมีพระประธานและพระสาวก ซึ่งแตกต่างกับธรรมเนียมสมัยอยุธยาที่นิยมสร้างพระหมู่ หลวงพ่อโตนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในชุมชน ในระหว่างพรรษาของทุกปีทางวัดแก้วฟ้า (ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน) ได้จัดพระสงฆ์ สามเณร ไปจุดธูปเทียนพรรษาบูชาอยู่เสมอ

ใบเสมาและซุ้มหอระฆัง

ใบเสมาวัดเพลงมีขนาดใหญ่ ทำด้วยหินทรายแดง ตั้งอยู่ตามมุมพระอุโบสถ เหลือเพียงแท่นฐานตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่ง 4 ฐาน ตามประวัติเมื่อฐานของใบเสมาผุพังตามกาลเวลาเพราะก่ออิฐถือปูน ใบเสมาจึงทลายลงมากองกันอยู่ ชาวบ้านจึงขนย้ายมาอยู่ที่วัดสักใหญ่ (ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้เคียงกัน) แต่เมื่อขนมาถึงจะทำการยกขึ้นประดิษฐานจะตั้งรายรอบพระอุโบสถหลังใหม่นั้น ยกขึ้นไม่ได้เนื่องจากมีน้ำหนักมากจึงกองกันอยู่กับพื้นที่พระอุโบสถวัดสักใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ใบเสมาบางอันยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นรูปลายเครือเถา เห็นลวดลายชัดเจนและอีกหลายอันแตกออกเป็นชิ้น

ใบเสมา มีขนาดใหญ่ ทำด้วยหินทรายแดง

ซุ้มหอระฆัง เป็นหอระฆังเล็ก ๆ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ หอระฆังนี้มีรูปแบบศิลปกรรม ด้านล่างเป็นซุ้มแบบอารคโค้งมีลายปูนปั้น (สร้างตามแบบนิยมสมัยอยุธยาตอนกลาง) ด้านบนชัน 2 มีเสาสี่เสามีบันไดขึ้นไปด้วย แต่เดิมมาผู้เฒ่าในแถบนั้นเล่ามาว่ามีบันไดทางขึ้น และมียอดด้วย ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง

ซุ้มหอระฆัง เป็นหอระฆังเล็ก ๆ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ
ซุ้มหอระฆัง เป็นหอระฆังเล็ก ๆ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ

นอกจากนี้ บริเวณวัดเพลง (ร้าง) ยังคงมีศาล ให้เราได้สักการะขอพร ขอโชคลาภ และร่องรอยซากปรักหักพัง ยังคงหลงเหลือให้เราศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยอยุธยา และปัจจุบันเป็นจุดเช็คอิน จุดเที่ยวชมโบราณสถานที่นับวันหาดูได้ยากยิ่ง แต่มีให้เราได้ชมที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

ขอพร ขอโชคลาภจากศาลเจ้าที่

สำหรับท่านใดที่ไม่รู้จะไปเที่ยวไหน หากมีโอกาสอย่าพลาดที่จะมาเที่ยวโบราณสถานวัดเพลง (ร้าง) วัดเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้เราได้สัมผัสและศึกษาเป็นบทเรียนนอกสถานที่ ที่มีเพียงไม่กี่วัดให้เราได้ชม

“เพราะอดีตเป็นรอยต่อของปัจจุบันที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงยุคสมัยได้ แต่เราเปลี่ยนใจที่จะรับรู้ซึมซาบอดีตเพื่อศึกษาเป็นแนวทางให้เราได้เข้าถึงวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน”

ป้ายทางเข้าโบราณสถานวัดเพลง (ร้าง)

โบราณสถานวัดเพลง (ร้าง)https://youtu.be/Kgmz2xmtNHY?si=VAbT_J-xvhRdjsR_

แผนที่การเดินทางhttps://maps.app.goo.gl/PiK5g8uEf31tmrka6