รู้ไหม? หลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินอยู่ที่ไหน?

1440

มีคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ และพยายามที่จะค้นหาคำตอบจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินอยู่ที่ไหน? และหลักกิโลเมตรที่ 0 ตั้งอยู่มุมใดของกรุงเทพฯ และสิ่งที่ค้างคาใจมานานนับหลายปี ที่หาคำตอบไม่ได้ สุดท้ายอยู่แค่ทางผ่านของสายตาเรานั่นเอง เพราะความที่ไม่ค่อยสังเกต สะเพร่ามุมมองคิด ที่มีคำตอบมากมายให้ค้นหา แต่สิ่งสำคัญที่เราภาคภูมิใจคือการเดินค้นหาด้วยตัวเอง เดินหาคำตอบจากสื่อออนไลน์ ที่บอกจุดสถานที่ อยู่มุมนั้น ใกล้กับสถานที่นั้น แต่หากเรายังมัวแต่ค้นหาคำตอบจากสิ่งที่เราไม่ได้ค้นหาเอง ย่อมนำความภาคภูมิใจไม่ได้ เหมือนกับเราอยากเที่ยว มัวอ่านแต่รีวิว ไม่คิดลองสัมผัสเดินทางไป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานที่นั้นมีอะไรน่าสนใจ เช่นเดียวกับการค้นหาหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่เดินค้นหาเจอและเป็นเส้นทางที่ผ่านบ่อยครั้ง และจุดนี้เองเป้นสถานที่เช็คอิน!  จุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินอยู่ที่ไหน?

หลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพฯ ที่เป็นต้นทางของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน ตั้งอยู่ปากทางเข้าถนนดินสอ ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยา พร้อมกับมีแผนที่ทางหลวงประเทศไทยขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน

หมุดหลักนี้สร้างขึ้นเมื่อใดนั้นอันที่จริงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัด แต่จากการบันทึกคำกล่าวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนกล่าวในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ตอนหนึ่งว่า

“เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่าง ๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้…” 

หลักกิโลเมตร ๐ นี้จึงเป็นเพียงความหมายเพื่อส่งเสริมความสำคัญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นสัญลักษณ์เชิดชูระบอบการปกครองของประเทศไทย แต่จุดเริ่มต้นตามความเป็นจริงของทางหลวงสายประธานทั้ง 4 ภาค จากข้อความในป้ายก็ระบุไว้ว่า..

“กิโลเมตรที่ ๐ ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน หมายเลข 1 หมายเลข 3 และหมายเลข 4 เริ่มจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน คือ ถนนพหลโยธิน จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถนนสุขุมวิท จากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อมามีทางหลวงสายประธานหมายเลข 2 คือถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับ กม.0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ-สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2”

จากข้อมูลได้มีการบันทึกพบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ 4 สาย ได้แก่

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ( ถนนพหลโยธิน ) เริ่มจาก อนสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร ถึง ชายแดนสหภาพพม่า ( ด่านพรมแดนแม่สาย ) อ. แม่สาย จ. เชียงราย

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ( ถนนมิตรภาพ ) จากทางแยก ต่างระดับมิตรภาพ อ. เมืองสระบุรี ถึง ชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สะพานมิตรภาพไทย – ลาว ) อ. เมืองหนองคาย

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ( ถนนสุขุมวิท ) จากจุดตัด ทางรถไฟสายแม่น้ำ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ถึง ชายแดนราชอาณาจักรกัมพูชา ( บ้านหาดเล็ก ) อ. คลองใหญ่ จ. ตราด

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ( ถนนเพชรเกษม ) จาก สะพาน เนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ถึง ชายแดนประเทศมาเลเซีย ( ด่านพรมแดนสะเดา บ้านไทย – จังโหลน ) อ. สะเดา จ. สงขลา

“หลักกิโลเมตรที่ 0” จุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดิน จุดเช็คอินกลางกรุงเทพมหานคร ที่เล่าเรื่องราวของอดีตผ่านกาลเวลา สู่ยุคปัจจุบันท่ามกลางรายล้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีร่องรอยของความเก่าแก่ของอดีตให้เห็น มีเพียงตึกแถว สถานที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ยังคงมีเรื่องเล่ามากมายให้ค้นหา…?