หากเอ่ยถึงพืชผักที่นักชอบ “กิน” นิยมกันอย่างแพร่หลายมีมากมายหลากหลายชนิด ล้วนแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการอีกทั้งยังช่วยดูแลซ่อมแซมสุขภาพ ผักบางชนิดมีคุณค่าทางสมุนไพร และมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ผักที่จะมาแนะนำบอกกล่าวถึงประโยชน์ “มากมาย” ปรุงเป็นเมนูก็อร่อย กินแล้วติดอกติดใจ จากผักธรรมดาที่ผู้คนตามท้องถิ่นปักษ์ใต้กินกัน กลายเป็นผักที่มีมูลค่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกร ส่งขายไปทั่วสู่ร้านอาหารกลายเป็นเมนูยอดฮิต

ผักที่เอ่ยมาทุกท่านต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ขอบอกว่า “เมนู” ต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการปรุง เป็นเมนูที่ผ่านการันตีว่า “อร่อย!” ผักที่กล่าวมาคือ “ผักเหลียง”
รู้ไหม? ว่าผักเหลียง เป็นผักพื้นบ้านทางปักษ์ใต้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน แล้วแต่ท้องถิ่น บ้างก็เรียก “ผักเมี่ยง” เกษตรกรนิยมปลูกตามร่องยางหรือบริเวณเชิงเขา ผักเหลียงมีรสชาติดี อร่อย นำมาปรุงเป็นเมนูได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผักเหลียงผัดไข่ ผักเหลียงลวกกะทิหรือต้มกะทิกุ้งสด แหม! เพียงแค่เอ่ยถึงเมนูแล้วชวนให้อยาก “กิน”

ผักเหลียงมีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของเรา นอกจากนี้การกินผักเหลียง ช่วยเสริมสร้างดูแลสุขภาพกายให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี กินผักเหลียงได้ครบทุกสารอาหาร มีประโยชน์ซ่อมแซมดุแลสุขภาพของเราให้ดี ปลอดภัยห่างไกลจากภาวะกัดกร่อนสุขภาพเป็นอย่างดี
ผักเหลียงมีคุณค่าประโยชน์ ชนิดที่เราต้องอึ้ง เพราะสารอาหารในผักเหลียงช่วย “บำรุงสายตา” เพราะใบผักเหลียงมีสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระที่สำคัญ และเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีประโยชน์ช่วยดูแลสุขภาพตา เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นตอนกลางคืน และการกินผักเหลียงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้นกระจกอย่างน่าทึ่ง
สำหรับคนที่นั่งจ้องคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน หรือหยิบจับโทรศัพท์มือถือมานั่งแชท เล่นเกม ดูหนัง ทำงานอยู่บ้าน เกิดภาวะปวดลูกกะตา ใช้เวลานานกับการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ กินผักเหลียงช่วยได้ เพราะมี วิตามิน A วิตามิน B และวิตามิน C ช่วยบำรุงสายตา ดีอย่างนี้ เราไม่ควรพลาดที่จะดูแลสุขภาพตาด้วยการ “กินเมนูผักเหลียง”
ผักเหลียงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านมะเร็ง ซึ่งข้อมูลจากภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บอกไว้ว่า
“ผักเหลียง 100 กรัม หรือ 1 ขีด ไม่รวมก้าน ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 1,089 ไมโครกรัมหน่วยเรตินัล สูงกว่าที่มีในผักบุ้งจีน 3 เท่า มากกว่าผักบุ้งไทย 5-10 เท่า”

ปัจจุบันการกินอาหาร ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กินอิ่ม กินเพื่อความอร่อย แต่การกินที่ดีต้องรู้จักกิน เพื่อสุขภาพของเราเอง การกินพืชผักที่ปลอดสารพิษ ช่วยยืดอายุสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่คิดแต่จะกิน เห็นอะไร? กินหมด ควรที่จะหยุดพฤติกรรมการกิน และปรับสมดุลชีวิตด้วยการเลือกสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นการยืดอายุให้อยู่กับลูกหลานนานๆ
ผักเหลียง อาจจะหากินยากในบางพื้นที่ แต่ก็ใช่ว่าจะหากินไม่ได้ ตามตลาดใหญ่ๆ เช่นตลาดบางกะปิ ตลาดคลองจั่น ตลาดพระราม 5 ตลาดวัดพระเงิน ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ฯลฯ ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นมัด ขาย 3 มัด (คนใต้เรียก “กำ” ราคา 50 บาท) ยังพอมีให้เราได้ซื้อมาปรุงเมนูเพื่อสุขภาพ เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี กินแล้วสุขภาพดีมีประโยชน์
เคล็ดลับความอร่อย
ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินซื้ออาหารในตลาด หากมีผักเหลียง สิ่งเดียวที่อยากนำมาปรุงเป็นเมนูวางบนโต๊ะอาหารคือ “ผักเหลียงผัดไข” เลือกใบที่อ่อนๆ นำมาผัดด้วยไฟอ่อนๆ ใส่ไข่ ปรุงรสตามที่ชอบ แค่นี้เราก็ได้เมนู “ผักเหลียงผัดไข่”

ขั้นตอนการทำ
เลือกใบอ่อนๆ ล้างน้ำให้สะอาด
ปอกเปลือกกระเทียม ทุบให้ละเอียด ใส่ในกระทะเจียวพอหอม จากนั้นใส่ ผักเหลียงลงไป ผัดไปมา พอใบเริ่มสุก ใส่เครื่องปรุง น้ำมันหอย น้ำปลา น้ำตาล คนกันไปมาให้เข้าเนื้อ จากนั้นใส่ไข่ลงไปในกระทะ ผัดไปมาจนสุก ชิมรสตามชอบ เพียงแค่นี้เราก็อิ่มอร่อยกับเมนู “ผักเหลียงผัดไข่” กลิ่นหอมโชยมาชวนให้เกิดความหิวขึ้นมาทันที แล้วอย่างนี้จะรอช้าทำไม? ตักข้าวสิ!
สำหรับท่านผู้อ่านที่ “ชอบทำกับข้าว” ลองนำเอาเมนูนี้ไป ทำกินเองที่บ้านดูได้นะ แล้วจะรู้ว่าผักเหลียงอร่อยอย่างไร? และอย่าลืมนะครับ บ้านเรามีอะไรมากมายที่กินแล้วเสริมสร้างซ่อมแซมสุขภาพของเราให้ปลอดโรค กินแล้วมีโภชนาการที่ดี เพียงแค่คุณรู้จักดูแลตัวเองหรือเปล่า!