ราชวงศ์จักรีสืบราชสันตติวงศ์ยาวนานที่สุดในโลก

2977

ในสถานการณ์ที่มีการคุกคามจากไวรัสที่ชื่อว่า “โควิด-19” หลายคนนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือไม่ก็เก็บกักตัวเองเฝ้าอยู่บ้าน ไม่ต้องไปนั่งสุ่มเสี่ยงกับคนอื่น ปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายแล้วค่อยออกจากบ้านไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ชอปปิง กิน เที่ยว

แต่ก็มีอีกหลายคนที่เหงา ไม่มีกิจกรรมอะไรที่ต้องทำ นั่งฟังเพลง ดูทีวี ออกกำลังกาย วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ทำให้สมองไม่มีการขยับขับเคลื่อนอะไร แต่มีเพียงอย่างเดียวที่จะกระตุ้นสมองให้คิดและทบทวน ค้นคว้าหาความสว่างให้สมองได้ซึมซับนำเอาความรู้ที่เราอยากรู้ แต่ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ไม่รู้ เพราะปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปโดยที่ไม่คว้าอะไรมาใส่สมอง

การอ่านหนังสือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มปัญญาให้กับเราได้ ทำให้สมองคิด ทำงาน ไม่เฉาแห้งเหี่ยว และยิ่งมีภาวะของการติดเชื้อไวรัสเข้ามาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนในประเทศกลุ้ม เหงา เปล่าเปลี่ยว ไม่รู้จะไปไหน ได้แต่นอนเฝ้าบ้าน การอ่านหนังสือเป็นเพียงตัวเลือกที่น่าสนใจ ไม่ต้องออกไปซื้อ ไม่ต้องไปร้านหนังสือ เปิดเวปสั่งออนไลน์ นอนอยู่บ้านรอรับหนังสือ เพียงแค่นิ้วคลิกสั่งเท่านั้น เราก็ได้หนังสือที่ชอบมาอ่าน

ผมคนหนึ่งที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ มีหลายแนวที่ผมค้นหามาอ่าน ไม่ใช่เป้นหนอนหนังสือ แต่เป็นการเติมความรู้ให้กับสมอง เวลาเราคุยกับใครจะได้ไม่ตกหรือพลาดเรื่องนั้นๆ คุณคิดเช่นผมหรือเปล่า! ยิ่งหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เราไม่หยุดที่จะติดตาม หาซื้อมาอ่านเพื่อต้องการทราบถึงอดีตความเป็นมา เช่นเดียวกับหนังสือในหลวงในดวงใจ เล่มนี้ที่ผมหยิบมาบอกกล่าวเล่าให้ทุกท่านได้รับรู้ เป็นหนังสือที่น่าอ่าน น่าศึกษา และควรค่าแก่การเก็บไว้ อะไรที่เราไม่รู้และเกิดข้อกังขาในอดีต เล่มนี้จะบอกกล่าวเล่าอย่างละเอียด อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว เกิดความ “อยาก” รู้ใช่ไหม? ครับ งั้นผมจะหยิบยกบางช่วงบางตอนมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่าน เพื่อเป็นแนวทางในการสั่งซื้อมาเก็บไว้เป็นของตนเอง

บุคคลสำคัญผู้สถาปนาราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสน ราชวงศ์สุโขทัย อันประจักษ์ชัดว่า พระบุญญาบารมี อันเป็นกฤษดาภินิหารแห่งกษัตริย์ไม่เคยเสื่อมคลาย แม้จะผลัดเปลี่ยนอาณาจักรมาหลายยุคสมัยเป็นเวลากว่า 1,000 ปี ด้วยพระเดชานุภาพแห่งราชวงศ์นั้น ทำให้กษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก กล่าวคือ เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มีการเปลี่ยนแผ่นดิน และได้มีการสร้างพระนครขึ้นมาใหม่ที่บางกอกฝั่งตะวันออก คือกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2325

สืบเนื่องมาจากราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัยนั้น (เป็นราชวงศ์เดียวกัน) นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชา  หรือขุนพิเรนทรเทพ ผู้เป็นเชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัยได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา มีพระราชโอรสคือสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ผู้สืบราชวงศ์สุโขทัยได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

สมเด็จพระเอกาทศรถ มีพระมเหสีเป็นธิดาของพระยาราม เชื้อสายขุนนางมอญ ต่อมามีบุตรหลานสืบสกุลจนถึงกรมพระเทพามาตย์ (เจ้าแม่วัดดุสิต) ผู้ซึ่งมีบุตรคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

สำหรับเชื้อสายสกุลวงศ์ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุคคลที่น่าสนใจในสกุลคือ เจ้าแม่วัดดุสิต พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าบัว (บางแห่งว่าชื่อหม่อมเจ้าอำไพ) เป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๑๗๕ นัยว่าน่าจะเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ และได้แต่งงานกับหม่อมเจ้าชายดำ (บางแห่งว่าหม่อมเจ้าเจิดอภัย หรือหม่อมเจ้าอภัย) มีบุตร ๓ คนคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แช่ม) ได้สถาปนาเป็นสนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) รับราชการเป็นราชทูตในตำแหน่งวิสูตรสุนทร  สมัย พระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งให้เดินทางไปเจริญพระราชไมตรี ณ ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส มีบุตร ๔ คน และบุตรชายคนที่สองชื่อ ‘ขุนทอง’ ได้รับราชการเป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีกรมคลัง ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ส่วนบุตรคนที่หนึ่ง สามและสี่ ไม่ปรากฏนาม

 เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บุตรกรมพระเทพามาตย์ (เจ้าแม่วัดดุสิต)

เป็นพ่อของเจ้าพระยาวรวงศาธิราช (ขุนทอง) เป็นปู่พระยาราชนกูล (ทองคำ)

 เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ต่อมาได้บุตรชายคือ “ขุนทอง” ซึ่งเข้ารับราชการเป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช มีบุตรชายสืบสกุลชื่อ “ทองคำ” มีชั้นยศเป็นจมื่นมหาสนิท ภายหลังได้รับราชการเป็นพระยาราชนกูล (ทองคำ) บุคคลที่ได้อพยพครอบครัว ไปอยู่ที่สะแกกรัง ภรรยาให้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ “ทองดี”

ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเพชร ในพระเจ้าเสือ ได้ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครอบครัวของพระยาราชนกูลจึงกลับเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ได้เป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ ครอบครัวนี้ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักฐานอยู่ที่บริเวณป้อมเพชร กรุงศรีอยุธยา

ต่อมาพระยาราชนกูล (ทองคำ) ได้สู่ขอ ดาวเรือง หลานสาวของพระยาอภัยราชา สมุหนายก อยู่กินตามประเพณีกับหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย มีบุตรคนแรกชื่อสา คนที่สองชื่อราม คนที่สามชื่อแก้ว ส่วนคนที่สี่พระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งเสด็จออกผนวชได้เสด็จมาเยี่ยมและได้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้เพื่อต้องการให้นางคลอดง่าย ครั้นคุณนายดาวเรืองคลอดบุตรเป็นชายพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ ทรงฉีกชายสบงผูกคอให้เด็กเพื่อความเป็นมงคล บุตรชายคนนี้พระอักษรสุนทรศาสตร์ตั้งชื่อว่า ทองด้วง

ในปีพ.ศ.๒๓๐๒ นายทองด้วงมีอายุ ๒๒ ปี พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) บิดาจึงจัดพิธีบวชให้ตามประเพณี โดยจำพรรษาที่วัดมหาทะลาย อยู่ร่วมกับพระภิกษุสิน (คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ระหว่างที่อุปสมบทนั้น ซินแสหมอดูได้ทำนายพระภิกษุทั้งสองว่า จะได้เป็นกษัตริย์ ดังพระนิพนธ์ในเรื่องสามกรุง ของพระเจ้าวงวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยากรณ์ว่า

 

“ท่านเป็นบุรุษต้องตามลักษ์         ล้วนแล

บุญเด่นเห็นประจักษ์                เจิดหล้า

จักสู่กระภูศักดิ์                      สุรกษัตริย์

สืบศุภวงศ์ตรงหล้า                 สฤษดิ์เลี้ยงเวียงสยาม”

 

ครั้นพระภิกษุทองด้วงลาสิกขาแล้ว พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ได้ไปสู่ขอ นาค บุตรีของเศรษฐีทองและนางสั้น ชาวบ้านอัมพวา เมืองราชบุรี มาแต่งงานกับทองด้วง

ทองด้วง ได้รับราชการตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ภายหลังได้เข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นพระยาราชวรินทร์ ตำรวจขวา และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)

ครั้งที่เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ได้แต่งงานกับนาค ต่อมาเมื่อครองราชย์จึงได้สถาปนาเป็น              สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เป็นราชนิกูลในเชื้อสาย ณ บางช้าง

ส่วนบุญมาน้องชายเข้ารับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระยาสุรสีห์สิงหนาท (บุญมา) และเป็นทหารเสือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพระเชษฐาธิราชปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ตำแหน่งพระมหาอุปราชพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า

พระมหาชนกแห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีมีความปรากฏเป็นหลักฐานในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึง เวอร์ จอห์น เบาริ่ง ในหนังสือ THE KINGDOM AND PEOPLE มีความแปลดังนี้

“ผู้ซึ่งเป็นพระมหาชนกแห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี และเป็นพระอัยกาของพระบิดาแห่งกษัตริย์องค์ปัจจุบัน (คือตัวข้าพเจ้าเอง) ของประเทศสยาม เป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านสะแกกรัง อันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ อันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่เชื่อมอาณาเขตติดต่อภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศสยาม ประมาณเส้นรุ้ง 13” 15” 30 เหนือ ดูจะกว่าบ้างเล็กน้อย เส้นแวง 99” 90” ตะวันออก เล่ากันว่า บุคคลผู้มีความสำคัญได้ถือกำเนิดที่นี่ และกลายเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษของราชวงศ์สยาม ที่มาจากหมู่บ้านสะแกกรังสู่กรุงศรีอยุธยา…”

บุคคลผู้มีความสำคัญถือกำเนิดที่บ้านสะแกกรังตามหลักฐานนี้คือ “ทองดี” ต่อมาคือ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ (ทองดี) ผู้ซึ่งเป็นพระบรมชนกของต้นราชวงศ์จักรี

 ราชวงศ์จักรีถือว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง (สมัยสุโขทัย) หรือราชวงศ์สุโขทัย (สมัยอยุธยา) ซึ่งเป็นราชวงศ์เดียวกัน นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จนถึงสมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ สถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ ครองกรุงรัตนโกสินทร์ ลำดับราชวงศ์จักรีเริ่มต้นราชวงศ์ตั้งแต่ สมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) กล่าวคือ เป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี

บันทึกแห่งประวัติศาสตร์

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และทรงสืบราชสันตติวงศ์ยาวนานที่สุดในโลกกว่า ๗๐๐ ปี

ค้นหาคำตอบจากหนังสือ “ในหลวงในดวงใจ”

เขียนโดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี

สนใจหนังสือและโปรโมชั่นดีดี

สอบถามโทร 📞

02 685 2255