ยุค VUCA คืออะไร และควรปรับตัวอย่างไร

185
ยุค VUCA คืออะไร และควรปรับตัวอย่างไร

ยุค VUCA คืออะไร และควรปรับตัวอย่างไร

คำว่า VUCA ถูกนำมาใช้มากขึ้น หลายคนเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง บางคนอาจเข้าใจถึงคำนี้ดี และบางคนอาจไม่เคยได้ยินเลย ทั้งที่ VUCA เป็นสิ่งที่ทุกคนและทุกองค์กร ควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะคำนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในโลกของคนทำงานที่ควรเรียนรู้เอาไว้ เพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นแบบคาดเดาไม่ได้ และเพื่อทำความเข้าใจ VUCA ทางบทความก็ได้นำเอานิยามและวิธีการปรับตัวมาฝาก ดังนี้

VUCA คืออะไร?

ก่อนเข้าสู่วิธีปรับตัว อยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจก่อนว่า VUCA นั้นคืออะไรกันแน่ โดย VUCA เป็นคำที่อธิบายถึงสถานการณ์ที่มีความผันผวนเกิดขึ้น ยากที่จะคาดคะเนสิ่งที่กำลังจะเกิด และมีความซับซ้อนสูงมาก จึงเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความสับสนและกังวล อันเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ และอาจคาดไม่ถึงในบางอย่าง นำมาซึ่งสถานการณ์ที่แย่ลงกว่าเดิมได้ โดยคำว่า VUCA ถูกใช้ครั้งแรกใน U.S. Army War College นักศึกษาทหารใช้กับสถานการณ์หลังจากเหตุการณ์สงครามเย็น ในปี 1991 กระทั่งเวลาต่อมา VUCA ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวงการอื่นด้วย

โดยในแต่ละตัวอักษรที่ประกอบในคำว่า VUCA ก็มีความหมายเฉพาะมาจากคำทั้ง 4 คำ ได้แก่

  • V มาจากคำว่า Volatility
  • U มาจากคำว่า Uncertainty
  • C มาจากคำว่า Complexity
  • A มาจากคำว่า Ambiguity

ทำความเข้าใจ V – Volatility

Volatility ที่แปลว่า ความผันผวน คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความไม่คงที่ และยากที่จะคาดเดา ซึ่งในโลกของการทำงานก็มีโอกาสที่จะเกิด Volatility ได้ ทำให้หลายองค์กรต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ เพื่อที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะความผันผวนทำให้หลายองค์กรล้มแบบไม่ทันตั้งตัวมาแล้วหลายราย เนื่องจากไม่ได้เตรียมการรับมือเอาไว้ ดังนั้นหากไม่ต้องการที่จะสูญเสียครั้งใหญ่ ก็ต้องปรับตัวให้ทันเสมอ

การรับมือกับ Volatility

องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองของพนักงาน เพื่อรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น พนักงานจะต้องมีความสามารถหรือศักยภาพที่เพิ่มขึ้น สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาคือ Skills เพราะยิ่งพนักงานมี Skills ที่หลากหลายมากเท่าไร ก็จะสามารถปรับตัวได้มากขึ้น เพื่อทำสิ่งใหม่ให้รับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้นำองค์กรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม หรือส่งพนักงานไปอบรมภายนอก เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ หรือแม้แต่เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ที่จะทำให้ Skills นั้นเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นแต่การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ในองค์กรเดิมๆ หรือตำแหน่งงานเดิม ก็มีส่วนช่วยให้พัฒนาตัวเองได้เช่นกัน เพียงแค่ไม่ปิดกั้น ก็ทำให้โอกาสในการรับมือกับความผันผวนนั้นสูงขึ้นแล้ว

ทำความเข้าใจ U- Uncertainty

Uncertainty ที่แปลว่า ความไม่แน่นอน ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลกระทบกับระบบต่างๆ ได้ นำไปสู่ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน หากไม่สามารถรับมือได้ทัน ความไม่แน่นอน คือความไม่คงที่อย่างหนึ่ง ในทางธุรกิจยังส่งผลต่อรายได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกำไรและขาดทุนได้ แน่นอนว่าในโลกของการทำงาน การประเมินรายได้แต่ละเดือนมักอาศัยข้อมูลที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมลูกค้าที่มีเสมอมา พฤติกรรมคู่แข่งที่เกี่ยวข้องกับผลกำไรของตนเอง ซึ่งถ้าหากมีความแน่นอนก็จะสามารถกำหนดแนวทางได้แม่นยำ แต่โอกาสของความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นได้ บางกรณีก็มีสิทธิสูงที่จะไม่แน่นอนได้ทุกเมื่อ เช่น การคาดเดาว่าช่วงเงินเดือนออก ลูกค้าจะต้องจับจ่าย และคาดการณ์ถึงยอดขายเอาไว้ล่วงหน้า รวมถึงวางแผนกระตุ้นการขายเอาไว้เรียบร้อย แต่สุดท้ายลูกค้ากลับไม่จ่ายตามที่คาดการณ์เอาไว้ อาจเป็นเพราะมีคู่แข่งเจ้าใหม่เกิดขึ้นในตลาด และจัดโปรโมชั่นที่ดีกว่า จึงดึงลูกค้าส่วนนั้นออกไปจำนวนหนึ่ง นั่นเองคือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้เสมอ

การรับมือกับ Uncertainty

องค์กรสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ด้วยการให้ความสำคัญกับข้อมูลให้มากขึ้น หากเป็นข้อมูลที่ต้องลงทุน ก็ควรยอมลงทุนเพื่อข้อมูลที่คิดว่าสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพราะยิ่งมีข้อมูลในมือมากเท่าไร ก็ยิ่งประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น และมีแผนสำรองเตรียมรับกับสถานการณ์นั้นได้ดีกว่า ซึ่งในปัจจุบันเป็นยุคของ Big Data ที่รวบรวมเอาไว้ด้วยข้อมูลหลากหลาย อีกทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์

ทำความเข้าใจกับ C – Complexity

Complexity ที่แปลว่า ความซับซ้อน ซึ่งหมายถึงปะปนทับถมรวมกันปริมาณมาก มีความยุ่งยากทำให้เกิดความสับสนได้ ในด้านการทำงาน มักเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีปริมาณมากและมีความละเอียดสูง ยิ่งละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งซับซ้อน ต้องทำการวิเคราะห์หลายส่วนประกอบกัน ทำให้โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดนั้นสูงตามไปด้วย เป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องรับมือให้ได้เช่นกัน

การรับมือกับ Complexity

องค์กรจะสามารถรับมือได้ด้วยการมีสติ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญสำหรับคนที่เป็นผู้นำ จะต้องตั้งคำถามและไขปัญหาทีละส่วนโดยละเอียด ทั้งนี้ยังอาจใช้วิธีปรับโครงสร้างเข้ามาช่วยได้ เพื่อลดความซับซ้อนลง หากสามารถลดความซับซ้อนได้ ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำ และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถลดความซับซ้อนได้ ก็ควรมีสติให้มากเพื่อจัดการกับความซับซ้อนเหล่านั้น

ทำความเข้าใจกับ A – Ambiguity

Ambiguity ที่แปลว่า ความคลุมเครือ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้ และไม่เข้าใจอย่างแท้จริง แน่นอนว่าความไม่ชัดเจนเหล่านั้น ย่อมทำให้เกิดความไม่แน่นอนได้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขึ้นหรือลง หรือในแง่ของพฤติกรรมลูกค้าอาจไม่ชัดเจนว่าจะยอมจ่ายหรือไม่ยอมจ่าย เป็นต้น

การรับมือกับ Ambiguity

เนื่องจากความคลุมเครือ ย่อมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ อาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ หรือสิ่งที่ทำเป็นสิ่งใหม่ จึงทำให้สถานการณ์ยังคงคลุมเครือ สามารถรับมือได้ ด้วยการทดลองก่อนจะทำจริง ใช้วิธีการตั้งสมมติฐานและทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของการทำงานในยุค VUCA และการรับมือเพื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุด ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะพนักงานหรือองค์กรต่างก็ต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ จึงจะสามารถคงอยู่ในยุค VUCA ได้