ในยุคเก่าก่อนเราได้ยินคนเฒ่าคนแก่บอกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนาเขียวขจี มี แม่น้ำ คู คลอง หนอง บึง ที่มากมีไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา นี่แหละที่มีการบอกรุ่นลูก รุ่นหลาน ถึงความอุดมสมบูรณ์ในยุคเก่าก่อน ที่ปัจจุบัน หาดูมองได้ยาก ยิ่งความเจริญเข้ามามากเท่าไหร่ ความอุดมสมบูรณ์ก็ค่อย ๆ ลดหายไป

ถึงแม้ว่าความเจริญรุกคืบเข้ามา แต่เราก็สามารถสัมผัสกับบรรยากาศท้องทุ่งนา และความอุดมสมบูรณ์ที่ยังมีเหลือให้ชื่นชมได้ ตามต่างจังหวัดและเขตปริมณฑลใกล้กรุงเทพฯ มีทุ่งนาที่เกษตรกรปลูกข้าว ปลูกผัก ทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการเลี้ยงสัตว์น้ำ ไว้ขาย และเหลือก็มาแบ่งปันกัน เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และที่สำคัญความเป็นคนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บ่งบอกถึงอุปนิสัยคนไทยได้เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกันการถนอมอาหารก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่มักเก็บไว้กินยามที่เกิดความแห้งแล้ง หรือยามที่ไม่มีอะไรจะกิน ก็สามารถนำสิ่งที่เก็บไว้นำมาปรุงอาหารได้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เป็นการเสริมสร้างรายได้และสร้างให้คนมีอาชีพเลี้ยงตัวเอง

ทั้งนี้นายสุทธิชัย ปทุมล่องทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และ นางมะลิวัน เอี่ยมแจ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ได้ร่วมกันนำปลาดุกที่เลี้ยงในกระชังมาแปรรูปเป็นผลิดตภัณฑ์ให้กับชุมชน ด้วยการคิดที่จะนำปลาดุกที่มีอยู่มาสร้างอาชีพให้กับชุมชน แต่เน้นการถนอมอาหารเอาไว้กิน และสามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน โดยทางผู้ใหญ่สุทธิชัย ได้นำเอาแนวคิดนี้มาจากคนเฒ่าคนแก่ที่นำเอาปลาดุกมาทำเป็นสินค้าชุมชน ผลิต ‘ปลาดุกร้า’ ซึ่งเป็นที่นิยมทางภาคใต้และเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ เป็นของฝากจากชุมชน

ซึ่งเคล็ดลับการทำปลาดุกร้า ได้ความรู้มาจากพ่อแม่ ที่มักนิยมนำปลามาเก็บเอาไว้กิน และแบ่งปัน แต่การเก็บไว้ให้ได้นานนั้นต้องรู้จักการนำมาถนอมอาหาร และการทำปลาดุกร้า เป็นการถนอมอาหารที่มาจากภูมิปัญญา ที่สามารถเก็บเอาไว้กินได้นาน โดยที่รสชาติยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือความอร่อย
ผู้ใหญ่สุทธิชัย ปทุมล่องทอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่ มะลิวัน เอี่ยมแจ้ง ได้นำกรรมวิธีการถนอมอาหารสูตรจากคนดั้งเดิมทางภาคใต้ มาทำ ‘ปลาดุกร้าปลายบาง’ เพื่อขยายฐานสร้างอาชีพให้กับชุมชน ให้มีรายได้จากการเว้นว่างจากการเกษตร ซึ่งปลาที่นำมาทำปลาดุกร้าปลายบาง ก็จากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในกระชัง ซึ่งเพียงพอต่อการนำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูป

ปลาดุกร้าทำอย่างไรให้รสชาติดี สูตรนี้ต้องลองพิสูจน์
การทำปลาดุกร้า สิ่งที่สำคัญมากคือการคัดเลือกขนาดไซส์ปลาให้มีขนาดเดียวกัน ไม่ใหญ่มากเกินไปและไม่เล็กมาก นำมาน็อคด้วยน้ำแข็ง และล้างเมือกให้หมด ลดกลิ่นคาว หัดหัวทิ้ง และควักไส้ออกให้หมด ล้างจนกว่าสะอาด
ส่วนเคล็ดลับความอร่อยและทำให้เนื้อปลาดุกนิ่ม คือการรู้จักใช้ส่วนผสม น้ำตาล เกลือ ในอัตราที่เหมาะสมและหมักประมาณ 2-3 วันให้ปลาและส่วนผสมเข้ากันดี จากนั้นนำไปตากแดด 4-5 แดด นำมาเก็บไว้พร้อมที่จะบรรจุถุงเตรียมส่งให้กับลูกค้าตามออร์เดอร์

เคล็ดลับความอร่อย
การปรุงปลาดุกร้าให้อร่อยมีเคล็ดลับง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก สำหรับมือใหม่ก็ทำได้ ซึ่งการทอดปลาต้องทอดด้วยไฟอ่อน ๆ เนื้อปลาจะหอม ชวนให้เกิดความหิว หลักจากตักปลาใส่จานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหั่นพริกขี้หนู หั่นหัวหอม โรยใส่ปลาและบีบน้ำมะนาว แค่นี้เราก็จะได้กินปลาดุกร้าปลายบาง รสชาติหอม อร่อย ยิ่งกินกับข้าวร้อน ๆ มีน้ำพริกด้วย รับประกันว่าจานเดียวไม่พอ

อยากกินปลาดุกร้าปลายบาง ทำอย่างไร?
สำหรับการผลิตปลาดุกร้าปลายบาง เน้นสำหรับการสั่งจองตามออร์เดอร์ เพราะช่วงนี้ยังมีฝน แดดไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ การนำปลาดุกมาตากแดด ค่อนข้างยุ่งยากเอาแน่นอนกับสภาพอากาศไม่ได้ เดี่ยวฝนตกเดี่ยวแดดออก เพราะเราเน้นตากแดดธรรมชาติ ต้องพลิกตัวปลาเพื่อให้โดนแดดทั้งสองด้าน อีกอย่างเราดูแลใส่ใจเรื่องของความสะอาดผู้บริโภคมั่นใจ ‘ปลาดุกร้าปลายบาง’ ถูกหลักอนามัย ปลอดภัยมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

การทำปลาดุกร้า เป็นแนวคิดที่ต้องการเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ที่มีเวลาว่างเว้นจากการทำงานประจำ มาจับกลุ่มร่วมมือร่วมใจกันสร้างผลผลิตจากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งนายสุทธิชัย ปทุมล่องทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และ นางมะลิวัน เอี่ยมแจ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ได้เริ่มทำเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน และได้คิดทำแพคเกจจิ้ง ออกแบบสติ๊กเกอร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคเห็นแล้วให้ความสนใจ ต้องการซื้อเป็นของฝาก และที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ เน้นย้ำ! คือความสะอาดและสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน

ปัจจุบันทางกลุ่มผลิต ‘ปลาดุกร้าปลายบาง’ ยังได้ไม่เยอะเท่าที่ควร ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสภาพอากาศ ความเพียงพอของปลาที่ยังไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการ แต่สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะชิมลิ้มลองความอร่อยของ ‘ปลาดุกร้าปลายบาง’ สามารถที่จะติดต่อสอบถามหรือสั่งออร์เดอร์ได้ที่ 081 854 9857,096 964 1574 อยากรู้ว่า ‘ปลาดุกร้าปลายบาง เนื้อนุ่ม ฟูฟ่อง หอม อร่อย!’ จริงไหม? ต้องลองแล้วจะติดใจ
