สังคมไทยเปิดจริงหรือ กับ LGBT บทบาทตัวตลกที่เลือกไม่ได้

345
LGBT

สังคมไทยเปิดจริงหรือ กับ LGBT บทบาทตัวตลกที่เลือกไม่ได้

เรามักจะได้เห็นการล้อเลียนกันอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายการ หรือการเล่นมุขตลกล้อเลียน แน่นอนว่ากับบางกลุ่มก็ตลกไม่ออกเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT ที่หลาย ๆ ครั้ง มักจะถูกปฏิบัติให้เป็นตัวตลกในสังคม ในเชิงเหยียด ล้อเลียน การยัดเยียดให้เขาเป็นตัวตลกโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือก มันถูกแล้วจริง ๆ น่ะหรือ ที่ล้อเลียนกันไปกับเหตุผลที่ว่า “ใคร ๆ ก็ทำกัน” มันสมควรหรือไม่

LGBT : เพราะแตกต่างจึงถูกล้อเลียน

หลายครั้งที่คอนเทนต์ที่นำเสนอออกมา โดยมีบุคคลที่เป็น LGBT มักจะใช้มุขล้อเลียน ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้เขาดูผิดแผก และใช้เหตุผลว่า ความตลกช่วยลดทอนความก้าวร้าวของคอนเทนต์และความรุนแรงต่อคนกลุ่ม LGBT เริ่มต้นจากการสร้างความแตกต่างทางรูปลักษณ์ เชื้อชาติ สีผิว หรืออื่นๆ เพื่อทำให้บุคคลเหล่านั้นแตกต่าง หรือด้อยกว่า เราเห็นกันได้บ่อยผ่านสื่อต่าง ๆ และชีวิตประจำวัน

สื่อกับการนำเสนอภาพ LGBT เพียงเสี้ยวเดียว

ในปัจจุบันเรามักจะเห็นสื่อมักจะเล่นประเด็นบทบาทของ LGBT เพียงบางบทบาทเท่านั้น เช่น เกย์ ตุ๊ด ถูกสร้างให้ภาพเป็นบุคคลที่อ่อนไหวง่าย รุนแรง หรือกะเทย ผู้หญิงข้ามเพศที่วางบทบาทให้คนที่กล้าแสดงออก รวมไปถึงการให้ LGBT เป็นเหมือนตัวโจ๊ก ตัวตลก ขายขำ ในเชิงความแตกต่าง แปลกแยก โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศด้วยถ้อยคำประดิษฐ์ที่มีนัยยะทางลบ เช่น สายเหลือง เก็บสมบู่ ตีฉิ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุน ส่งเสริมความเข้าใจ LGBT  หากแต่ส่งผลกระทบในเชิงของภาพจำ (Stereotype) หรืออคติ (Stigma) และอาจนำไปสู่ความเข้าเข้าใจผิด ขัดแย้ง พฤติกรรมความรุนแรงในสังคมได้เช่นกัน

สังคมไทยเปิดกว้างให้กับ LGBT จริงหรือ?

ถ้าเราเห็นกันตามโลกโซเชียล เราก็จะได้เห็นการเหยียดมากมาย จนดูเหมือนเป็นการคุ้นชิน แม้ว่าเดี๋ยวนี้สังคมไทยจะเปิดกว้างกับ LGBT มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข สังคมยังมองคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) เป็นพวกไม่สมบูรณ์ และมองว่าเป็นคนชายขอบ

อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ สังคมนิยาม LGBT ว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชายหรือหญิงตามมาตรฐานของสังคม โดยใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” การมอง LGBT ในสังคมไทยเช่นนี้ บ่มเพาะให้เกิดอคติและความรุนแรงที่แอบแฝงอยู่ในสังคม หลายคนยังถูกดูถูกเหยียดหยาม และไม่ได้รับสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ ที่น่ากลัวคือการบ่มเพาะอคตินี้ ยังคงมีการผลิตซ้ำในเกือบทุกสถาบันทางสังคม

สังคมคือชนวนการก่อให้เกิดการเหยียดและล้อเลียน

ในสังคมไทย LGBT ถูกขายเป็นความบันเทิง ตั้งแต่ตลกคาเฟ่ จนมาถึงสื่อ โรงเรียน โลกออนไลน์ กลายเป็นกลุ่ม LGBT ต้องแบกรับบทบาทตัวตลกทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้ต้องการบทบาทนี้ก็ได้ บทบาทตัวตลกยังคงถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมา ราวกับว่ามันขายได้ ใคร ๆ ก็ทำกัน

ไม่ใช่แค่เพียงสังคมในโรงเรียนหรือสื่อออนไลน์ ในบางครอบครัว ผู้ปกครองก็มักมอง LGBT ในด้านลบ โดยเฉพาะการรักเพศเดียวกันกลายเป็นความวิตกกังวลของพ่อแม่

การที่สังคมยังคงมีพฤติกรรมซ้ำไปซ้ำมาในการเหยียดและล้อเลียน กลุ่ม LGBT ก็ยิ่งเป็นการผลักดันให้สังคมซึมซับ Hate Speech ต่อกลุ่มคน LGBT มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยังทำให้แตกต่างหรือถูกกีดกันทางสังคม จากความคิดสู่คำพูด สู่การกระทำที่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

การเหยียด ล้อเลียน หรือทำให้พวกเขาเป็นตัวตลก แต่กลุ่ม LGBT มักไม่ได้รู้สึกตลกร่วมด้วย มันสื่อถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว สร้างความอับอาย  สร้างความแปลกแยกแตกต่างจากสังคม หรือการถูกทำให้ด้อยค่า และมีผลต่อการดำรงชีวิตมากกว่าแค่คำพูดหรือการกระทำ

ตราบใดที่สังคมยังมีความคิดที่เปิดรับต่อกลุ่ม LGBT ไม่จริง ปัญหาการล้อเลียน เหยียดกันในสังคมก็ยากที่จะหมดไป เราจะทำให้มันดีขึ้น หรือเราจะยืนย่ำอยู่กับที่เพียงเพราะใคร ๆ ก็ทำกัน?!