ลำดับขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทย ที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องรู้

474
ลำดับขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทย ที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องรู้

ลำดับขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทย ที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องรู้

พิธีแต่งงานแบบไทยนั้นจะมีรายละเอียดพิธีค่อนข้างเยอะ ซึ่งลำดับขั้นตอนนั้พิธีแต่งงานนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งทำให้ไม่มีรูปแบบหรือขั้นตอนที่ตายตัวขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มลดกันได้ แต่โดยหลักกลาง ๆ มาตรฐานที่ใช้กัน รู้ไหมคะว่าต้องมีลำดับขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง บอกเลยว่าสำคัญสำหรับบ่าวสาว

  1. พิธีสงฆ์

ธรรมเนียมไทยนั้นเมื่อมีการทำพิธีหรือมีงานมงคล ย่อมมีพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ สำหรับพิธีสงฆ์นั้นสำคัญกับพิธีแต่งงานแบบไทยด้วยเช่นกัน เป็นพิธีการแรกที่เริ่มทำเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นการใช้ชีวิตของคู่บ่าวสาว ส่วนมากพิธีนี้จะเริ่มกันในช่วงเช้า การนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลสมรสนั้น แต่ก่อนนิยมนิมนต์เป็นคู่ เช่น 4 รูป ปัจจุบันนิยม 9 รูป พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พร้อมทำน้ำมนต์สำหรับใช้ในพิธี เสร็จแล้วคู่บ่าวสาวตักบาตร และถวายอาหารภัตตาหารเลี้ยงพระค่ะ

  1. แห่ขันหมาก

สีสันในพิธีแต่งงานแบบไทยที่หลายคนรอคอย ก็การแห่ขันหมากนี่ล่ะค่ะ จะถือฤกษ์งามยามดีตามดวงของคู่บ่าวสาว หรือตามธรรมเนียมไทยก็จะถือเลข 9 เพื่อความก้าวหน้าของชีวิต ส่วนขบวนขันหมากนั้นจะแตกต่างกันดังนี้ ขันหมากแต่งจะประกอบไปด้วย

  • ขันหมากเอก นิยมจัดเป็นคู่ ประกอบไปด้วยขันใส่หมาก พลู ถั่ว งา ข้าวตอก ใบเงินใบทอง ข้าวเปลือก
  • ขันหมากโท นิยมจัดเป็นคู่เช่นกัน ประกอบด้วย อาหารและขนมหวาน ต้นกล้วยและต้นอ้อย ต้นกล้วยและต้นอ้อยนิยมประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีแดงให้สวยงาม
  • ขั้นหมากหมั้น จะประกอบไปด้วย ทองรูปพรรณ เพชรพลอย กำไล สร้อยคอ ต่างหู แหวนทอง และเงิน แล้วแต่ตามที่ตกลงกันไว้แล้ว นำมาห่อด้วยกระดาษสีแดงให้เรียบร้อยก่อนบรรจุลงในขัน

จากนั้นตั้งขบวนรอฤกษ์เริ่มเดินทางไปบ้านเจ้าสาว มีการโห่นำ 3 ครั้ง อาจจะมีกลองยาวนำหน้าขบวนเพื่อสร้างความสนุกสนานเมื่อขบวนเคลื่อนที่มาถึงบ้านเจ้าสาว จะมีการโห่รับ 3 ครั้ง

  1. การกั้นประตู

ความสนุกสนานในงานพิธีแต่งงานแบบไทยยังคงดำเนินไปต่อ ที่ร้อยทั้งร้อยด่านนี้เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ตามธรรมเนียมดั้งเดิมการกั้นประตูเพื่อผ่านด่านเข้ามาหาเจ้าสาว จะมีแค่ 3 ด่านเท่านั้น คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง สิ่งที่นำมากั้นประตูจะต้องเป็นของมงคล ประตูแรกกั้นด้วยสายสร้อยเงิน หรือผ้าแพร ประตูที่ 2 กั้นด้วยสายสร้อยนาค และประตูสุดท้ายกั้นด้วยสายสร้อยทอง เจ้าสาวจะต้องไปเก็บตัวในห้อง จะออกจากห้องได้ เมื่อเจ้าบ่าวไปสู่ขอและผู้ใหญ่ตกลงยกให้แล้ว แต่ปัจจุบันได้ใส่สีสันสนุก ๆ ลงไป เช่น ก่อนจะผ่านด่านต้องมีการพิสูจน์ความรักด้วยการเต้นบ้าง บอกรักบ้าง

  1. การสู่ขอ

อีกหนึ่งธรรมเนียมพิธีงานแต่งงาน คือ การสู่ขอ เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเริ่มทำการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงเจรจากันและผู้ใหญ่ยินยอมตกลงยกลูกสาวให้แล้ว ก็จะมีการแจกแจงว่าสินสอดมีอะไรบ้าง ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานขันหมั้นออกมานับบนผ้าแดง เมื่อนับเสร็จผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรย ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด ต่อมาฝ่ายคุณแม่เจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้าแล้วแบกขึ้นไว้บนบ่านำไปเก็บ

  1. การสวมแหวน

ขาดไม่ได้เลยในพิธีแต่งงาน ที่บรรดาช่างภาพจับจ้องกันเป็นพิเศษ เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีตามที่ดูมาอันเป็นฤกษ์มงคล ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวสวมแหวนให้ฝ่ายเจ้าสาว เมื่อเจ้าบ่าวสวมให้เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะไหว้และสวมแหวนให้เจ้าบ่าวและกราบเจ้าบ่าว จากนั้นอาจจะมีให้เจ้าบ่าวหอมแก้มเจ้าสาวเพิ่มสีสันให้งาน

  1. การรดน้ำสังข์

สัญลักษณ์พิธีแต่งงานแบบไทย เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็เตรียมตัวมานั่งตั่งรดน้ำสังข์ โดยฝ่ายเจ้าสาวจะนั่งฝั่งซ้ายเจ้าบ่าวฝั่งขวา ให้ประธานในพิธีสวมมงคลแฝด จะเริ่มทำการรดน้ำสังข์อวยพร โดยเริ่มจากพ่อแม่เจ้าสาวเจ้าบ่าวก่อน ในระหว่างพิธีรดน้ำสังข์ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องมีคนเพื่อนมายืนด้านหลังตลอด และที่สำคัญต้องโสด

  1. พิธีรับไหว้

ขั้นตอนต่อไปของพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนคลานเข้าไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัว กราบคุณพ่อคุณแม่ที่เท้า 1 ครั้งไม่ต้องแบมือ สิ่งที่คู่บ่าวสาวนำไปไหว้คือ ธูปเทียนแพ พร้อมผ้าไหว้ โดยการไหว้นั้นจะไหว้พ่อแม่ทางฝ่ายเจ้าสาวก่อน

  1. พิธีส่งตัวเข้าหอ

ทางพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ มาช่วยปูที่นอนให้กับบ่าวสาว ซึ่งผู้ใหญ่ที่เชิญมาปูผ้าปูที่นอนให้นั้น จะให้คนเฒ่าคนแก่ที่ครองคู่กันมานาน มีครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับพิธีแต่งงานอีกอย่างหนึ่ง

เพราะพิธีแต่งงานแบบไทยมีความละเอียดอ่าน ดังนั้นบ่าวสาวควรศึกษารายละเอียดเอาไว้เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้และให้งานเป็นไปได้อย่างราบรื่น