ดื่มนมอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
“นม” เป็นอาหารที่เรามักจะดื่มกันในวัยเด็ก แต่หลายคนเมื่อโตขึ้นกลับห่างหายจากการดื่มนม และมองว่านมยังคงเป็นอาหารสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง นมสำคัญสำหรับทุก ๆ วัย และแต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการนมในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจะมาแนะนำค่ะ ว่าควรดื่มนมอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
นมมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
นมมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน ไขมัน แคลเซียม น้ำ และเกลือแร่ต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของเด็กให้แข็งแรง นอกจากนี้ โปรตีนในนมยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในวัยผู้ใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะได้อีกด้วย
แต่ละช่วงวัยควรดื่มนมอย่างไร
วัยทารก (อายุ 0 – 1 ปี)
ในวัยทารกควรจะต้องดื่มนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน หรือบางครอบครัวก็ให้ลูกกินจนถึง 2 ปี พร้อมกับเสริมอาหารตามวัย เนื่องจากสารอาหารในนมแม่จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกได้อย่างดีที่สุด อีกทั้งนมแม่ยังช่วยเสริมพัฒนาการ EQ, IQ ที่สำคัญคือนมจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่
วัยเด็ก
สำหรับวัยเด็ก จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนวัยเรียน (อายุ 1 – 5 ปี) แม้ว่าในบางบ้านจะให้ลูกดื่มนมแม่ถึงอายุ 2 ปี แต่เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มหย่าเต้าและฝึกดื่มนมวัวแทน เด็กอายุ 1 – 2 ปี ควรดื่มนมจืดพาสเจอร์ไรส์ที่มีไขมันเต็มเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ข้อดีของการดื่มนมจืด จะช่วยลดพฤติกรรมการติดรสหวานได้ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วน, เบาหวาน และฟันผุได้อีกด้วย อีกช่วงคือวัยเรียน (6 – 12 ปี) เป็นช่วงที่เด็กเจริญเติบโตได้เร็วที่สุด ดังนั้นใครอยากให้ลูกสูง ควรดูแลด้วยการดื่มนมวันละ 1 – 2 แก้วในปริมาณแก้วละ 200 มิลลิตร ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ และอย่าลืมที่จะเสริมสร้างวินัยในการออกกำลังกายให้กับเด็ก ๆ
วัยผู้ใหญ่
หลายคนสงสัยว่าโตแล้วทำไมยังต้องดื่มนม จริง ๆ แล้ว การดื่มนมในวัยผู้ใหญ่ก็ช่วยเรื่องสุขภาพได้เช่นกัน เพียงแต่จะต้องเลือกนมให้เหมาะสม นมที่ควรดื่มจึงควรเป็นนมพร่องมันเนย เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณไขมันจากนมมากเกินไป แต่หากใครที่ต้องควบคุมระดับไขมันในร่างกาย ควรเลือกดื่มนมขาดมันเนยแทน
วัยผู้สูงอายุ
ในวัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง ที่หมดประจำเดือนไปแล้ว การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น ประกอบกับการสร้างกระดูกที่ลดลง ส่งผลให้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน และกระดูกหักมากกว่าคนในวัยหนุ่มสาว โดยการดื่มนมจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เป็นประโยชน์อย่างมากในวัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายมีอัตราการสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูร่างกายลดน้อยลง โดยผู้สูงอายุควรดื่มนมวันละ 1 – 2 แก้ว หรือเลือกกินโยเกิร์ตซึ่งย่อยง่ายกว่านม ที่สำคัญควรเป็นรสจืดเพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงควรเลือกนมสูตรพร่องมันเนยส่วนนมเปรี้ยวมีเปอร์เซ็นต์นมน้อยและน้ำตาลสูงควรระวัง
รู้อย่างนี้แล้ว แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่ แต่นมก็ยังคงเป็นอาหารที่สำคัญกับทุกช่วงวัยจริง ๆ หากเราดื่มนมในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัยและร่างกายของเรา ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษอย่างแน่นอน หากใครที่มีปัญหาย่อยนมวัวได้ไม่ดี หรือแพ้นมวัว สามารถหานมทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็น Lactose Free มาดื่มแทนได้นะคะ