4Checklist ห้ามพลาด ก่อนยื่น(ลดหย่อน)ภาษีออนไลน์ ปี2563

1995
ยื่นภาษี2563

1. ยื่นภาษี 2563 หมดเขตเมื่อไหร่

กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นออนไลน์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563
ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th ตั้งแต่ วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 2563

2. แนะนำขั้นตอนการยื่นแบบฯทางอินเทอร์เน็ตโดยสรุปดังนี้

  1. เข้าไปยังเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th เลือกรายการการบริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Service) สำหรับบุคคลธรรมดา
  2. หากเป็นการเข้าสู่ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนก่อน โดยต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ระบบจะแสดงหมายเลขผู้ใช้งาน (User Name) และรหัสผ่าน (Password) บนหน้าจอ
  3. เลือกรายการบริการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้แค่เงินเดือนประจำเท่านั้นจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่มีรายได้จากแหล่งอื่นให้ยื่นเป็น ภ.ง.ด.90
  4. เข้าระบบโดยใช้หมายเลขผู้ใช้ (User Name) และรหัสผ่าน (Password)
  5. ป้อนรายการข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ รายการเงินได้ ค่าลดหย่อน เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ หากครบแล้วคลิก “ตกลง” เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
  6. เมื่อได้ตรวจสอบรายการข้อมูลที่บันทึกและสั่งให้ระบบ “คำนวณภาษีแล้ว”
  7. การแสดงผลของการยื่นแบบฯ โดยเราสามารถตรวจสอบข้อมูลหลังจากที่ยื่นเอกสารประมาณ 1 วันทำการ ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (epit.rd.go.th)
    • ในกรณีไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม หน้าจอจะแสดงผลการรับแบบและหมายเลขอ้างอิงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และกรมสรรพากรจะส่งใบเสร็จรับเงินไปยังที่อยู่ตามที่ลงทะเบียนไว้
    • กรณีมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม สามารถเลือกวิธีการชำระภาษีได้ ทั้งผ่าน e-payment หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร โดยระบบจะแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รหัส ควบคุม และจำนวนภาษีที่ต้องชำระ และดำเนินการตามขั้นตอนของ ธนาคารนั้น ๆ  หรือหากเลือกวิธีชำระผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ (pay at post) ได้ที่ไปรษณีย์ใกล้บ้าน

3. เช็คสิทธิลดหย่อน มีอะไรช่วยได้บ้าง

สำหรับผู้ที่คำนวณแล้วมีรายได้เกิน 310,000 บาทต่อปี  ก็คงต้องมาหาสิทธิลดหย่อนเพื่อช่วยประหยัดภาษี  ลองมาตรวจสอบกันดูว่า  เราได้สิทธิอะไรบ้าง  จะได้รวบรวบเอกสารยื่นกรมสรรพากรได้ครบถ้วน  เผื่อได้สิทธิเงินคืนภาษีจะได้ไม่ต้องรอนาน  ถ้าคุณรวบรวบเอกสารทุกอย่างครบถ้วนและถูกต้อง

ค่าลดหย่อนส่วนตัว
  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ลดได้ทันทีที่ยืนแบบแสดงรายได้
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต้องเป็นกรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส และไม่มีรายได้  หรือมีรายได้แต่เลือกคำนวณภาษีพร้อมกัน ในส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารทะเบียนสมรสไว้ด้วย
  • ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อลูก 1 คน นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท (ตามนโยบายส่งเสริมให้มีลูกเพิ่มขึ้น) ส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารสูจิบัตร หรือใบรับรองบุตรไว้ยืนพร้อมการ ยื่นภาษี
  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท (หากเป็นคุณสามีสามารถนำค่าใช้จ่ายนี้ไปหย่อนในรายการของตัวเองได้ ในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้)
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (รวมพ่อแม่ของคู่สมรส) แต่หากมีพี่น้องและพี่น้องของเราใช้สิทธิ์ไปแล้ว เราจะไม่สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้ ในส่วนนี้ให้เตรียมเอกสารรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) 
  • ค่าอุปการะคนพิการ หรือ คนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน หากเป็นผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ  ส่วนคนทุพพลภาพ  จะต้องเป็นผู้ทุพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน  มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีขอใช้สิทธิหักลดหย่อน  และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน
  • ประกันสังคม ที่ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันชีวิต หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ 10,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ กองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 490,000 บาทจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี
  • เงินสะสมกองทุน กบข.และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องซื้อและถือครองเอาไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ( ปีสุดท้ายสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนในการ ยื่นภาษี )
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชี้ หรือ RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี

ในค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน จะมีเอกสารรับรองเพื่อใช้ในการ ยื่นภาษี ซึ่งบางแห่งอาจมีจดหมายส่งมาถึงบ้าน หรือบางแห่งอาจให้คุณดาวน์โหลดเอกสารเองจากเวปไซต์ ลองตรวจเช็คเอกสารส่วนนี้ด้วย

ค่าลดหย่อนด้านอสังหาริมทรัพย์
  • ลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่กู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโด  สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาลดหย่อนได้ตามจริง  แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก ปี 2558 ในกรณีที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท  คุณสามารถนำราคาบ้านมาลดหย่อนได้ปีละ 4% ในเวลา 5 ปี รวม 20%
  • ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก ปี 2562 สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท  สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท
เงินบริจาค
  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สถานพยาบาลของรัฐ สนับสนุนการกีฬา และเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ สามารถหักได้ 2 เท่า ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้พึ่งประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆแล้ว
  • เงินบริจาคช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วมจากพายุปาบึก ลดหย่อนได้ตามบริจาคจริง
  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
  • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ในส่วนของเงินบริจาคต้องเป็นการบริจาคที่เกิดขึ้นในรอบปี 2562 ลองตรวจเอกสารยืนยันการบริจาคให้ครบ เพื่อนำมาประกอบการ ยื่นภาษี

ค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
  • ซื้อสินค้าการศึกษาและกีฬา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ซื้อหนังสือ ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ซื้อสินค้าโอทอป ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000 บาท ท่องเที่ยวเมืองรอง 20,000 บาท (แต่รวมกันทั้งเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท)
  • ค่าซ่อมบ้านหรือรถ กรณีประสบภัยจากพายุปาบึก พายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามจริง กรณีค่าซ่อมบ้านลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนซ่อมรถ ตามค่าใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

4. เช็ครายการทุกอย่างให้พร้อม เตรียมเอกสารให้ครบ พร้อมแล้วก็ ยื่นภาษี ได้เลย!!

ที่มา businesstoday.co , krungsri.com