เฟมินิสต์กับสิทธิ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความเสมอภาคทางสังคม

234
Feminist 2022

เฟมินิสต์กับสิทธิ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความเสมอภาคทางสังคม

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ มีหลายประเทศที่เกิดการเรียกร้องสิทธิสตรีกันเยอะมาก หรือข่าวล่าสุดกับเรื่องผู้หญิงอัฟกันที่แทบจะหมดสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระในประเทศที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ อย่างในประเทศไทยเอง ก็มีการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชายที่จะต่อต้านเฟมินิสต์ เพื่อให้ได้ความเสมอภาคทางสังคมด้วยความเถรตรง เช่น ทำไมผู้หญิงไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร หรือทำไมต้องมีหน่วยงานรัฐ NGO ที่ช่วยเหลือสตรี แต่ไม่มีหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้ชายบ้าง ทั้งที่ผู้ชายกับผู้หญิงก็เป็นคนเหมือนกัน ฯลฯ กระแสเฟมินิสต์จึงกลายเป็นเรื่องที่ขัดใจสำหรับผู้ชายบางกลุ่มไม่น้อย

ทำความรู้จักคำว่า เฟมินิสต์

เฟมินิสต์ หมายถึง ผู้ที่สนับสนุนเรื่องสิทธิสตรี หรือคำที่ใช้เรียกผู้สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในผู้หญิงและผู้ชาย กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมีเฟมินิสต์ นั่นก็เป็นเพราะว่า ไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคกี่สมัยมา ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงก็ไม่เคยมีคำว่าเท่าเทียมกันเลย ผู้หญิงและผู้ชายล้วนสามารถเป็นทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ได้

เฟมินิสต์สะท้อนการกดขี่ ความไม่เท่าเทียมภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่

เคยสงสัยกันไหมคะ ว่าจริง ๆ ผู้ชายกับผู้หญิงเท่าเทียมกันหรือไม่? ในแต่ละวันเราสามารถเห็นตัวอย่างของบริบทนี้อยู่เรื่อย ๆ เช่น ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน ทำงานบ้าน ทำกับข้าว เลี้ยงลูก กลับกันเมื่อผู้ชายเป็นฝ่ายทำสิ่งเหล่านั้นเอง กลับกลายเป็นได้รับการชื่นชม แต่กับผู้หญิงกลับมองว่าก็เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องทำ ทั้ง ๆ ที่ มันคือหน้าที่ของทั้งสองคนที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน

หรือประโยคยอดฮิตติดหูอย่าง “ก็แต่งตัวโป๊ไง เลยโดน…” ที่ถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชายด้วยการกล่าวโทษผู้หญิง ทั้ง ๆ ที่ สิทธิ์การแต่งตัวก็เป็นของผู้หญิง แต่คนที่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ก็ผู้ชายนั่นไง

เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้อง ยืนด้วยการเป็นเฟมินิสต์ เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการโดน Sexual harrasment, การไม่สวมใส่บรา, การโดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ไปจนถึงการเลือกที่จะทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย เสียงของพวกเธอเหล่านั้นมักถูกคนกลุ่มหนึ่งโจมตีกลับไปเสมอ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ตาม ราวกับจะบอกว่าเสียงของผู้หญิงมันไม่ได้สำคัญมากพอให้เปิดใจรับฟัง แถมหากออกมายืนกระต่ายขาเดียวบอกว่า ฉันเป็นเฟมินิสต์ ก็จะถูกโจมตีว่าเป็นคนที่น่ารำคาญ โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ที่พร้อมจะตัดสินด้วยอคติ และไปจบลงตรงที่ แค่เป็นเฟมินิสต์ก็ผิดแล้ว

ผู้หญิงกับการถูกละเมิดทางเพศ

ที่เราได้เห็นก็คือ Body shammed หรือพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ อย่างกรณีที่นักเรียนกลุ่มหนึ่งสอบเข้าคณะกฏหมายของมหาวิทยาลัยท็อปของประเทศ และตามล่ารูปเพื่อนผู้หญิงในกรุ๊ปของคณะต่าง ๆ เพื่อเอาไปดู ไปวิจารณ์ พูดคุยกันในเชิงทางเพศ

ดังนั้น การเป็นเฟมินิสต์เพื่อยืนหยัดในสิทธิของตัวเองเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะหากผู้หญิงยังคงถูกปิดปาก เงียบต่อไปเรื่อย ๆ เสียงของผู้หญิงจะค่อย ๆ หายไปจากสังคม ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงอัฟกันที่ต้องคลุมผ้าปิดหน้าตาจนมิดไม่เห็นแม้แต่ดวงตา หลายครั้งก็อดคิดไปไม่ได้ ไม่ใช่แค่สิทธิของผู้หญิงที่หายไป แต่กลายเป็นสิทธิความเป็นคนก็ถูกกดจนแทบไม่เหลือ

หลาย ๆ ตัวอย่างยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าความเสมอภาค เท่าเทียมกันไม่มีอยู่จริงในโลก หากใครคิดจะยืนอยู่บนความเป็นเฟมินิสต์แล้วล่ะก็ จงยืนหยัดและฟันฝ่าต่ออุปสรรคในสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง