ประวัติ มอเตอร์โชว์

2865
ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

ประวัติ มอเตอร์โชว์

ปัจจุบันงานมอเตอร์โชว์เป็นงานที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของอีเว้นท์ของประเทศไทย เพราะว่า รถ เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์เลยก็ว่าได้ ใครๆก็อยากมีรถ และในงานยังมียอดการจองรถสูงถึงหลัก พันล้านบาท ผู้เข้าชมหลักล้านคน ซึ่งวันนี้ผมจะนำเสนอประวัติของงานมอเตอร์โชว์มาให้ชมกันครับว่างานนี้มีการเติบโตขึ้นมากขนาดไหนและ เพื่อเตรียมพร้อมกับงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2561 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี กันครับ

ยุคแรก…สวนลุมพินี-สวนอัมพร ครั้งที่ 1 – 18

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

ประสบการณ์ที่เป็นความสำเร็จจากการเป็นเจ้าของนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ที่โด่งดังที่สุด สู่แนวความคิดที่จะเป็นผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย “ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา” จัดงานมอเตอร์โชว์ขึ้นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ MOTOR SHOW ‘79 โดยยึดเอาพื้นที่เพียง 16,200 ตารางเมตร เปิดตำนานมอเตอร์โชว์เมืองไทย เมื่อวันที่ 2-6 เมษายน 2522 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเปิดงาน ซึ่งครั้งนั้นได้รวบรวมรายได้จากบัตรผ่านประตูราคา 3 บาท มอบให้ “มูลนิธิดวงประทีป”

เพียงครั้งแรก “ดร.ปราจิน” ก็มองเห็นเส้นทางแห่งความสำเร็จ ที่ได้รับการต้อนรับจากบริษัทรถยนต์และคนไทยอย่างคับคั่ง ทำให้การจัดงานครั้งที่ 2 ต้องย้ายสถานที่มาจัดที่สวนอัมพร ซึ่งมีพื้นที่ที่สามารถทำให้ภาพลักษณ์ทัดเทียมมอเตอร์โชว์ระดับโลก สิ่งสำคัญและเป็นมงคลยิ่งคือการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทาน พระราชานุญาตให้นำรถยนต์พระที่นั่งมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ประชาชนนับล้านคนที่มาร่วมชมงานได้ชื่นชมตลอดการจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2523 และที่น่าสนใจยิ่ง การนำเอารถยนต์ที่เป็นสุดยอดเทคโนโลยีจากบริษัทมาจัดแสดงให้ชมกัน ถือเป็นการเปิดเส้นทางแห่งงานมอเตอร์โชว์มาจนถึงทุกวันนี้

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

หลังจากนั้น การจัดงานมอเตอร์โชว์ จึงยึดเอาสวนอัมพรเป็นสถานที่จัดงานเรื่อยมา พร้อมการเพิ่มวัน จาก 5 วัน เป็น 7 วัน ในครั้งที่ 4 รวมถึงการเริ่มต้นการนำเข้ารถยนต์ต้นแบบหรือ Concept Car ที่เป็นพัฒนาการเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาจัดแสดงให้ชมกัน และที่ยังเป็นความสนใจของผู้ชมงาน คือรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ของแต่ละบริษัทที่ไม่ยอมน้อยหน้ากัน จนมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในการจัดงานครั้งที่ 5 โดยเปลี่ยนชื่องานเป็น Bangkok Motor Show โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเพื่อความเป็นสากล จึงได้เพิ่มคำว่า International จนเป็นความสมบูรณ์ของงานมอเตอร์โชว์ระดับโลก คือ Bangkok International Motor Show มอเตอร์โชว์หนึ่งเดียวของประเทศไทยในการจัดงานครั้งที่ 17
แน่นอน งานย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นอินเตอร์มากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการจัดงาน ที่มีการนำเรือมาจอดโชว์ในสระนํ้าหน้าอาคารใหญ่ หรือการจัดแสดงของเครื่องเสียงติดรถยนต์ รวมถึงขบวนแรลลี่ที่เป็นเสมือนประเพณีของงาน และที่ยังเป็นพระเอกของงานก็คือ รถต้นแบบ และรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่แต่ละบริษัทรถยนต์คัดสรรมาแสดงให้ชมกันและที่ไม่ยอมแพ้กันก็ค่ายรถจักรยานยนต์ ที่นำรถรุ่นใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ก็ถูกนำมาเสนอ พร้อมมุมบันเทิงต่าง ๆ อีกมากมายพัฒนาการของการจัดงานเติบโตควบคู่กับการก้าวลํ้าแห่งเทคโนโลยียานยนต์ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งทำให้งานมอเตอร์โชว์เมืองไทยได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปีนี้ทางคณะผู้จัดได้จัดให้มีการประกวดมิสมอเตอร์โชว์ ที่เปิดโอกาสให้สาวสวยผู้มีความรู้ความสามารถเข้าประกวด เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ภายในงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน และยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายภายในบริเวณงาน

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ยังคงจัดงานอยู่ที่สวนอัมพรจนถึงครั้งที่ 18 “ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา” มองการเติบโตของงานอย่างเป็นกังวลเรื่องสถานที่ ที่นับปีจะเริ่มเล็กลง เมื่อเทียบกับการเติบโตของงาน การเติบโตของเทคโนโลยียานยนต์ และจำนวนผู้เข้าชมงานที่ผ่านจากหลักแสนคนสู่หลักล้านคน แนวคิดจะโยกย้ายสถานที่จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ การจัดงานครั้งที่ 19 จึงได้ย้ายจากสวนอัมพร สู่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา บนพื้นที่ 30,800 ตารางเมตร ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่จัดงานแสดงที่มีมาตราฐานสูง และเหมาะสมอย่างยิ่งกับการจัดงานมอเตอร์โชว์ระดับโลก ตำนานแห่งการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ กับ “สวนอัมพร” จึงปิดฉากลงแค่การจัดงานครั้งที่ 18 เมื่อปี พ.ศ. 2540 และนับจากครั้งที่ 19 คือการเข้าสู่ยุคที่ 2 ของมอเตอร์โชว์ต่อไป

ยุคที่ 2 ไบเทค บางนา ครั้งที่ 19 – 31

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

การตัดสินใจของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะประเทศไทยเมื่อปี 2540 เป็นสถานการณ์แห่งต้มยำกุ้งที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในทุกมุมโลก จึงมีเสียงคัดค้านจากทีมงานด้วยความห่วงใยสถานการณ์ แต่ “ดร.ปราจิน” กลับพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์คือส่วนผสมแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การจัดงานในสถานที่ที่โอ่อ่าสมศักดิ์ศรี แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็คุ้มค่าอย่างยิ่งกับการเติบโตในครั้งต่อ ๆ มา
สิ่งสำคัญการมีพื้นที่จัดงานที่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้พัฒนาการของงานก้าวลํ้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานมอเตอร์โชว์เมืองไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการประกวดมิสมอเตอร์โชว์ การประกวดมิสพรีเซนเตอร์ ที่เสมือนการให้ความสำคัญกับการพรีเซนต์ถึงความสุดยอดแห่งเทคโนโลยียานยนต์ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ยิ่งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รอบ ๆ บริเวณงาน การที่บริษัทต่าง ๆ ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการคัดเลือกรถยนต์ที่จะนำมาจัดแสดง การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ คือบทพิสูจน์ความเป็นงานมอเตอร์โชว์ระดับโลก ที่ก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลอย่างสมบูรณ์แบบ

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

จนถึงการจัดงานครั้งที่ 26 งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ ก็ได้รับการบรรจุลงใน “ปฏิทินงานแสดงรถยนต์ระดับนานาชาติ” โดยการรับรองโดย OICA หรือองค์กรซึ่งดูแลเกี่ยวกับการจัดแสดงรถยนต์ทั่วโลก ภายใต้การจัดงานของ ดร.ปราจีน เอี่ยมลำเนา
การจัดงานครั้งที่ 19 ที่ย้ายมาจัดงานที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา นั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การจัดบูธที่เป็นพื้นที่แสดงทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์การให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งของทุกบริษัทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงพื้นที่จัดแสดงอุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ ก้าวลํ้าสู่ความเป็นมอเตอร์โชว์ระดับโลก และยังเป็นการสนับสนุนให้ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก้าวหน้าสู่ความเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชียอีกด้วย

ความสำเร็จที่ชัดเจนอีกด้านก็คือ ผู้เช้าชมงานที่มีมากกว่า 2 ล้านคน การได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาทำข่าวเพิ่มขึ้นทุกปี พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากทีมงานผู้จัดงานที่ต้องเดินทางศึกษาดูงานจากงานมอเตอร์โชว์จากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้งานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ก้าวทันและทัดเทียมงานระดับโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานโตเกียว มอเตอร์โชว์, แฟรงก์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ เป็นต้น จนทำให้ทีมงานมีความเชี่ยวชาญการจัดงานมอเตอร์โชว์ระดับโลกไปด้วย
แน่นอน…สิ่งที่ทีมงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์เติบโตอยู่ตลอดเวลา ทำให้ “ผู้จัดงาน” มิอาจหยุดพัฒนาด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการจัดงานครั้งที่ 32 หลังจากจัดงานอยู่ที่นี่มา 14 ปี จึงตัดสินใจย้ายสู่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สถานที่จัดงานที่สามารถรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอีก และนี่คือการก้าวสู่ยุคที่ 3 ของการจัดงานมอเตอร์โชว์แห่งประเทศไทย

ยุคที่ 3…ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ครั้งที่ 32 – ปัจจุบัน

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

การตัดสินใจย้ายการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ จากศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มาเป็น ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ด้วยองค์ประกอบความพร้อมของสถานที่ที่มีพื้นที่จัดงานถึง 140,000 ตารางเมตร บนพื้นที่เดียวกัน และมาตรฐานที่เป็นสากลกว่า สิ่งสำคัญยิ่งของงานก็คือ การที่ทุกบริษัทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต่างก็ให้ความสำคัญ ทั้งการจัดสุดยอดเทคโนโลยีแห่งยานยนต์ การนำรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ มาเปิดตัว และการนำเสนอรถต้นแบบ หรือ Concept Car คือบทพิสูจน์พัฒนาการของการจัดงานที่เป็นงานระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทแม่จากทั่วโลก
รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ร่วมสนับสนุนการเป็นมอเตอร์โชว์ระดับโลก สิ่งสำคัญนอกจาก ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา แล้ว “คุณเต้” จาตุรนต์ โกมลมิศร์ในฐานะผู้ดูแลการจัดงาน ยังพยายามเพิ่มศักยภาพของความเป็นมอเตอร์โชว์ประเทศไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดมิสมอเตอร์โชว์ มิสพรีเซ็นเตอร์ กิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ที่มีให้ชมภายในงานตลอดระยะเวลา 12 วัน รวมถึงการจัดสถานที่ที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามาชมงาน ให้สามารถเดินชมงานได้อย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะพื้นที่สำหรับผู้เข้าชมงานกว้างกว่าปกติ

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

วันนี้…งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ผู้เข้าชมงานจึงได้เห็นวิวัฒนาการการก่อสร้างบูธ ที่บางบริษัทเป็นการออกแบบจากบริษัทแม่ และเป็นรูปแบบเดียวกับงานมอเตอร์โชว์ใหญ่ ๆ ด้วยงบการก่อสร้างนับร้อยล้านบาท ที่สำคัญ ผู้จัดงานยังจัดงานคาร์ออฟเดอะเยียร์ เพื่อเป็นพลังใจสำหรับทุกบริษัทในการมอบรางวัลรถยนต์รุ่นต่าง ๆ อีกด้วย
ยุคที่ 3 ของงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ภายใต้การจัดการของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา และทีมงานคุณภาพที่กำกับดูแลโดย “คุณเต้” จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นี่คือความภาคภูมิใจ ที่เป็นความสำเร็จของคนไทยผ่านเส้นทาง 3 ยุค ของมอเตอร์โชว์ระดับโลก ฝีมือคนไทย

ประวัติมอเตอร์โชว์
ประวัติมอเตอร์โชว์

หากคุณมีเรื่องราวไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ในเวบไซต์ Alive Around ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทเทรนด์แฟชั่น ความงาม ร้านอาหาร คาเฟ่สุดชิค แหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่แฮงค์เอ้าท์สุดคูล เทรนด์การตกแต่งบ้าน งานศิลปะ การออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือแม้แต่ข่าวสาร และเกร็ดความรู้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ งานอีเว้นท์ เทคโนโลยี แก็ดเจ็ตใหม่ล่าสุด ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สามารถติดต่อกับทีม Admin ของเราได้ที่ www.alivearound.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น