รู้จัก มาตรการลดหย่อนภาษี EASY E-RECEIPT หรือ ช้อปดีมีคืน 2567 อัปเดทล่าสุด

207
EASY E-RECEIPT
EASY E-RECEIPT

มาตรการ “Easy E-Receipt” หรือ ช้อปดีมีคืน 2567 มีเพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดา กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่กฎหมายกำหนด สูงสุดถึง 50,000 บาท ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443)

รู้จัก ช้อปดีมีคืน 2567 หรือ EASY E-RECEIPT

ในระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายสูง ภาครัฐจึงเล็งเห็นในการส่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลดหย่อนภาษี เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567

โดยในครั้งนี้มาในชื่อใหม่ ‘Easy e-Receipt’ แทนที่รู้จักกันดีแต่เดิมในนาม ‘ช้อปดีมีคืน’ แต่ทุกคนก็เรียกกันเหมือนเดิมคือ ช้อปดีมีคืน 2567 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไป

EASY E-RECEIPT ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ?

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล) สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยเป็น e-TAX INVOICE & e-RECEIPTเท่านั้น

เงื่อนไขในการใช้ EASY E-RECEIPT

  1. ผู้ใช้สิทธิจะต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
  2. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ ได้แก่ สินค้าทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้
  3. สังเกต LOGO EASY E-RECEIPT ที่ร้านค้าให้บริการ

สินค้าที่ไม่ร่วมมาตรการ

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
2. ค่าซื้อยาสูบ
3. ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
4. ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ และเรือ
5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำปปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ และผู้รับบริการสามารถใช้บริกาดังกล่าว นอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

การขอ e-TAX INVOICE & e-RECEIPTเท่านั้น (ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์)

ติดต่อเจ้าหน้าที่ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการ พร้อมยื่นบัตรประชาชน และแจ้งเบอร์โทร หรืออีเมล์

กรณีการซื้อสินค้า หรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร

ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

รายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมบริการ Easy E-Receipt

  1. เดอะมอลล์ทุกสาขา, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, เอ็มสเฟียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นสโตร์
  2. ศูนย์การค้าในเครือวันสยาม (One Siam) ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่
  3. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลและโรบินสันทุกสาขา
  4. Tops, 7-eleven, Uniqlo, Lotus, Makro, Gourmet Market Online, Big C, Banana, Banana Run, Sizzler, Homepro, Loft, Watsons, Robinson, Verasu, Studio 7, Tha Mall, Emporium, Kinokuniya, Se-ed, Dyson, b2s, Naiin, Powerbuy, IT City, Siam Takashimaya, Starbuck, Ikea online, มั่งคง gadget, Swensen, Autobag, Supersport, Ergotrend, 425, Samsonite, King Power (เฉพาะสินค้าป้ายฟ้า), Pizza Company, Shabushi, Decathlon
    (Update รายชื่อ ณ วันที่ 4 ม.ค.2567)สำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าอื่น ๆ สามารถสอบถามการเข้าร่วมโครงการได้ที่จุดบริการลูกค้า หรือสังเกตุง่ายๆ คือจะมีสัญลักษณ์ e-TAX INVOICE & RECEIPT ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือคำว่า Easy E-Receipt หรืออาจมีป้ายว่าสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ 

วิธีขอใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์จากร้านค้า

  • ก่อนซื้อสินค้า ให้เช็กก่อนว่าร้านค้านั้นสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ได้ไหม โดยสามารถสอบถามกับร้านค้าที่จะซื้อโดยตรง หรือเช็กก่อนช้อปด้วยตนเอง โดยมีขั้นตอนดังนี้
    • เช็กผ่านเว็บไซต์ https://etax.rd.go.th
    • เลือกเมนู ‘ผู้มีสิทธิจัดทำ’ ในแถบเมนู
    • กรอกเลขภาษีอากรของร้านค้าที่จะซื้อ หรือไล่เช็กจากรายชื่อที่แสดง
  • เมื่อไปซื้อสินค้าที่หน้าร้าน แล้วได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อรูปแบบกระดาษ (ใบเสร็จรับเงิน) ที่เครื่องแคชเชียร์ ให้นำใบเสร็จนั้นไปขอรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จุดบริการลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้านั้น ๆ กำหนดไว้
  • เมื่อไปถึงจุดให้บริการ ให้แจ้งอีเมลของคุณที่ใช้สำหรับรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับพนักงาน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอน ร้านค้าจะส่งเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้ในรูปแบบไฟล์ PDF หรืออื่น ๆ
  • สำหรับการซื้อสินค้าผ่าน Lazada/Shopee หรือช่องทางออนไลน์ ให้สังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt หรือ e-Tax ก็สามารถแจ้งขอใบกำกับภาษีได้เลย โดยส่วนมากจะให้แจ้งข้อมูลที่ใช้ออกใบกำกับภาษีและอีเมล ผ่านทางช่องทางแชทของร้านค้า

ใครสามารถเข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt ได้บ้าง?

มาตรการ Easy E-Receipt ที่ถูกนำมาแทนช้อปดีมีคืน 2567 ก็มีเงื่อนไขที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนนะคะ ต้องเป็นบุคคลที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2567 ที่จะเก็บในช่วงต้นปี 2568 เท่านั้น โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษี ดังนี้

  • เงินได้ต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษี) ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้
  • เงินได้ต่อปี 150,001 – 300,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 2,500 บาท
  • เงินได้ต่อปี 300,001 – 500,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 5,000 บาท
  • เงินได้ต่อปี 500,001 – 750,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้ต่อปี 750,001 – 1,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 10,000 บาท
  • เงินได้ต่อปี 1,000,001 – 2,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 12,500 บาท
  • เงินได้ต่อปี 2,000,001 – 5,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 15,000 บาท
  • เงินได้ต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป ลดหย่อนภาษีสูงสุด 17,500 บาท

ที่มา : กรมสรรพากร