5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น

2853
5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น
5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น

5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น

5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น
5 ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น

“วัยรุ่น” เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อในการก้าวผ่านความเป็นเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ มีความเสี่ยงในการเผชิญปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเพศ ยาเสพติด และความรุนแรงต่างๆ เพราะเป็นวัยที่ชอบทดลอง อยากรู้    อยากเห็น เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อเพื่อนมากกว่าใครๆ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างระหว่างลูกและพ่อแม่        ยิ่งสภาพสังคมเปลี่ยนไป ทำให้สารพัดปัญหาของวัยรุ่นยิ่งซับซ้อนจนพ่อแม่ตามไม่ทัน แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุค 4.0 แล้วล่ะก็ ยังไงก็ต้องติดเน็ตสปีดแรงตามลูกให้ทัน อย่าให้ใครมองว่าคุณเป็นพ่อแม่ยุคหัวโบราณ ตามลูกไม่ทัน ปัญหาก็จะสายเกินแก้ ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์(p2h) สานต่อโครงการ “ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลาน (รัก) ปลอดภัย” ที่ดำเนินงานมาปีนี้เป็นปีที่ 8 ในพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ปกครองกว่า 20,000 คนที่ผ่านการเรียนรู้จากห้องเรียนคุยเปิดใจฯ ซึ่งการดำเนินงานของโครงการฯ ส่งผลให้ครอบครัวในชุมชนต่างๆ มีความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปเปิดห้องเรียนให้พ่อแม่ที่จังหวัดนครศรีธรรรมราช เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวในเรื่องปัญหาต่างๆ ของวัยรุ่น รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ผู้ปกครองและลูกหลานวัยรุ่นให้สามารถพูดคุยเรื่องเพศและปัญหาด้านอื่นๆ ได้อย่างเปิดใจ

คุณขนิษฐา  ลิบัง ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองและวิทยากรต้นแบบจากจังหวัดนครศรีธรรรมราช แชร์ประสบการณ์ในชีวิตจริงให้ฟังว่า “เมื่อก่อนเคยเป็นคุณแม่ที่ชอบใช้อารมณ์และคำพูดที่ไม่เพราะในการสอนลูก เพราะคิดว่ามีลูกเป็นเด็กผู้ชาย ต้องพูดจาตรงๆ ห้าวๆ ซึ่งส่งผลให้ลูกไม่ฟังในสิ่งที่พูดและไม่ปรึกษาปัญหาที่เขาพบเจอในชีวิต แต่หลังจากได้เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ทำให้ทัศนคติในการพูดคุยกับลูกเปลี่ยนไป เกิดความเข้าใจว่า การดุหรือใช้ถ้อยคำที่หยาบคายในการสอนวัยรุ่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากลอง เราจึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับเขาว่าทำไมต้องห้ามทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลและการใช้คำพูดอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้ลูกกล้าเปิดใจที่จะคุยกับเราในเรื่องต่างๆ และเนื่องจากเราเป็นวิทยากรของโครงการด้วย หลังจากผ่านการอบรมจึงได้นำความรู้ที่ได้มาสอนสามีซึ่งผลที่ได้รับนั้นกลายเป็นว่า ลูกชายจากที่ไม่ค่อยกล้าคุยกับพ่อ ตอนนี้พวกเขากล้าที่จะพูดคุยเรื่องเพศ เรื่องสิ่งเสพติดและปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”  โดยได้แนะนำเคล็ดลับที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรนำไปปฏิบัติเพื่อลดช่องว่างระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น ดังนี้

  1. เอาใจลูกมาใส่ใจเรา พ่อ-แม่ยุค 4.0 ควรจะพูดคุยเปิดใจกับลูก แต่จะเริ่มต้นพูดได้อย่างไร?…แน่นอนต้องเริ่มจากเอาใจลูกมาใส่ใจเราซะก่อน นั่นก็คือ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกคิดหรือสิ่งที่ลูกรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา ถ้าพ่อแม่เข้าใจลูกและรู้ว่าพวกเขามีความคิดอย่างไรแล้วล่ะก็ (ต้องเข้าใจจริงๆ นะ ไม่ใช่แสร้งว่าเข้าใจ)      จะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่กับลูกวัยรุ่น เนื่องจากลูกจะรับรู้ถึงความใส่ใจห่วงใยของพ่อแม่ ทำให้เด็กในวัยนี้ไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านหรืออยากท้าทายซึ่งจะทำให้ลูกกล้าจะเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ในที่สุด
  2. นั่งไทม์แมชชีนย้อนไปสมัยวัยทีน พ่อ-แม่ทุกคนย่อมเคยผ่านช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่นมาก่อน ดังนั้น คุณควรต้องนึกย้อนไปในอดีตที่ตอนนั้นกำลังเป็นวัยรุ่น วัยอยากรู้อยากลอง ดังนั้น การที่ลูกมีความสนใจเรื่องเพศหรือสิ่งยั่วยุต่างๆ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่มันเป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติของร่างกายเท่านั้น หากพ่อแม่สามารถเข้าใจการกระทำหรือพฤติกรรมของลูกว่าเป็นไปตามวัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมผ่านประสบการณ์ที่ตนเคยประสบมาก่อน รวมถึงการช่วยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับลูกได้
  3. รับฟังลูกทุกถ้อยคำ แน่นอนว่าการเป็นผู้พูดอย่างเดียวไม่ใช่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น พ่อ-แม่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย การตั้งใจฟังลูกพูดโดยใช้หลักการฟังทุกถ้อยคำและฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังโดยไม่ตัดสินถูกผิดด้วยความเห็นของตัวเอง จะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดจริงๆ เมื่อเราไม่ตัดสินการกระทำของลูกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด พวกเขาจะรู้สึกไว้วางใจและคิดว่าพ่อแม่เปรียบเสมือนเพื่อนคนหนึ่งของเขา ไม่ว่าจะเจอปัญหาร้ายแรงแค่ไหน พวกเขาก็จะกล้าเปิดใจเล่าให้พ่อแม่ฟังเพราะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ และเมื่อพ่อแม่สามารถเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ ให้กับลูกได้แล้วจะทำให้สามารถชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและเป็นอนาคตที่ดีของชาติ
  4. คำพูดสร้างสรรค์เสริมสัมพันธ์ในครอบครัว การพูดกับลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณรู้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสม คำพูดที่ไม่ควรใช้กับลูกคือ คือ คำว่า “ห้าม” และคำว่า “ไม่” เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบการสั่ง แต่พวกเขาจะทำตามในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำเพื่อเป็นการแสดงความเป็นตัวเอง โดยควรเปลี่ยนมาเป็นการให้คำแนะนำ แทนการสั่งห้ามไม่ให้ทำ อาจใช้การยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยผ่านมาก่อนเพื่อให้ลูกเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ในการสั่งสอนหรือพูดคุยกับลูก ควรใช้การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงถ้อยคำหยาบคายหรือการใช้อารมณ์ เพราะจะทำให้ลูกไม่รับฟังและพวกเขาอาจจะไม่กล้ามาเล่าปัญหาของตนให้คุณฟังอีก
  5. ใช้จินตนาการเราอยากเป็นพ่อแม่แบบไหนในสายตาลูก คุณพ่อคุณแม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าตัวเองอยากเป็นพ่อแม่แบบไหนในสายตาลูก หากมีคำตอบในใจแล้วว่าตนเองตั้งใจจะเป็นพ่อแม่แบบไหน คำตอบนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสามารถแสดงออกต่อลูกได้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากเป็นพ่อแม่ที่ดีในสายตาของลูก อยากให้ลูกรู้สึกถึงความรัก ความหวังดีที่เรามอบให้ ฉะนั้น หากตั้งใจจะเป็นพ่อแม่แบบนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก รับฟัง ให้คำปรึกษาที่ดีแทนการดุด่าว่ากล่าว ใช้เหตุผลในการพูดคุยเป็นหลักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ ให้กับลูก และทำให้ลูกเกิดการยอมรับแล้วนำไปสู่การปฏิบัติตามในที่สุด

คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการฯ ว่า “โครงการ ‘ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลาน (รัก) ปลอดภัย’ ดำเนินการใน กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา นครศรีรรมราช ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 14 จังหวัดทั่วประเทศ มีภาคีขับเคลื่อน 251หน่วยงาน มีทีมวิทยากรหลักในพื้นที่ที่พร้อมเปิดห้องเรียนให้พ่อแม่ 334 คน และมีพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 20,000 คนที่ผ่านการเรียนรู้จากห้องเรียนคุยเปิดใจฯ ซึ่งการจัดการอบรมแต่ละครั้งส่งผลให้ทัศนคติของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการฯ เปลี่ยนไปในเชิงบวก เราพยายามทำงานโดยเชิญชวนผู้ใหญ่ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ด้วยกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติในเรื่องเพศ พร้อมเพิ่มความสามารถในการสื่อสารภายในครอบครัวให้กับพ่อแม่ อาทิ การปรับความหมายคำว่าพ่อแม่ให้เห็นภาพตรงกับลูก การสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น การทำความเข้าใจและวิธีการรับมืออย่างสร้างสรรค์ต่อพฤติกรรมของลูก เป็นต้น”